จีนสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST (Five-hundred-meter Aperture Spherical Telescope) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เสร็จสมบูรณ์แล้ว หลังใช้เวลาดำเนินการมายาวนานรวม 5 ปี ตามความตั้งใจของ ประธานาธิบดีสี้ จิ้นผิง ที่ต้องการผลักดันประเทศไปสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกในด้านการสำรวจอวกาศ
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST ตั้งอยู่กลางหุบเขามณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน บนพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะตามธรรมชาติ มีขนาดเทียบเท่าสนามฟุตบอล 30 สนาม และมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 500 เมตร สร้างไว้เพื่อใช้สำรวจหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก
โดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2554 ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 5 ปี ด้วยงบลงทุนสูงถึง 1,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 6,300 ล้านบาท ภายใต้การบริหารจัดการของ National Astronomical observatories (NAOC)
Zheng Xiaonian ตัวแทนองค์กร NAOC กล่าวว่า “โครงการ FAST มีศักยภาพในการค้นหาสิ่งแปลกปลอมมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจต้นกำเนิดของจักรวาล และสนับสนุนการสำรวจหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก” โดย FAST จะตรวจหา กรดอะมิโนที่มีอยู่ในดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลออกไป เพื่อตามหาสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มนุษย์ต่างดาว
ด้วยความกว้างมากถึง 500 เมตร ทำให้ FAST สามารถทุบสถิติกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 300 เมตร ที่ Arecibo Observatory ใน Puerto Rico ซึ่งเคยถูกบันทึกไว้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย FAST ติดตั้งแผ่นสะท้อนโลหะรูปทรงสามเหลี่ยมทั้งหมด 4,450 แผ่น มาประกอบกันเป็นจานสะท้อนสัญญาณขนาดยักษ์ ซึ่งแต่ละแผ่นสามารถเคลื่อนที่ได้ เพื่อปรับมุมให้ได้องศาการรับคลื่นที่เหมาะสมที่สุด
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่และอยู่ห่างไกลจากเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัย ทำให้รัฐบาลจีนต้องอพยพผู้คนในมณฑลกุ้ยโจวที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากตัวกล้อง ออกจากพื้นที่ ซึ่งมณฑลกุ้ยโจวถือเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในประเทศ ทั้งนี้เพราะต้องการแน่ใจว่าจะไม่มีสัญญาณใดจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ เช่น โทรศัพท์มือถือ มารบกวนการทำงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ โดยชาวบ้านจะได้รับค่าชดเชยคนละ 12,000 หยวน (1,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 63,000บาท)
เมื่อไม่นานนี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มต้นทดสอบเครื่องโทรทรรศน์วิทยุ FAST และคาดว่าจะพร้อมใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพในเดือนกันยายน 2559 นอกจากโครงการ FAST ที่เป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาด้านอวกาศเพื่อให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกทางด้านนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งโครงการสำคัญ นั่นคือ การสร้างสถานีอวกาศและส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปีพ.ศ. 2579
Source: inhabitat, spacesafetymagazine