ค่าแบบหรือค่าบริการวิชาชีพของสถาปนิกในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ถูกที่สุดในโลกซึ่งคงเป็นกรรมเก่าที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของสถาปนิกไทยเรา เหตุผลดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากสังคมไทยไม่ (เคย) เข้าใจและไม่อยากทำความเข้าใจกับบทบาทการทำงานของสถาปนิกมาตั้งแต่แรกเริ่มมีวิชาชีพสถาปนิก ทั้งที่เรามีสมาคมสถาปนิกสยามฯ มาตั้งเกือบ 75 ปีมาแล้ว
เมื่อสังคมไม่เข้าใจหรือไม่รู้จักบทบาทการทำงานของสถาปนิก ประชาชนก็จะไม่รับรู้ความยากลำบากในการทำงานของเราตั้งแต่การคิดแบบ การคิดโปรแกรม Concept และไม่เข้าขั้นตอนและวิธีการออกแบบ จัดทำแบบ เขียนแบบ และงานอื่น ๆ ที่ทำให้ความฝันของลูกค้ากลายเป็นจริงจนก่อสร้างแล้วเสร็จได้ เพราะงานนามธรรมพวกนี้ลูกค้าจะไม่สามารถมองเห็นได้ เนื่องจากเป็นกระบวนการทางความคิดที่อยู่ในหัวสมองของสถาปนิกเราเป็นหลัก
ดังนั้นค่าแบบของสถาปนิกไทยเราจึงมักถูกประเมินผ่านเพียงสิ่งของรูปธรรม หรือเอกสารที่ลูกค้าจับต้องได้ก็คือ แบบบ้าน แบบอาคาร ภาพทัศนียภาพ หรือหุ่นจำลองก็ตาม ซึ่งเมื่อตีมูลค่าของการออกแบบผ่านกระดาษและแบบพิมพ์เขียว ไปจนถึงเอกสารประกอบแบบทั้งหลาย ก็จะดูแปรเป็นตัวเงินได้ไม่มากมายเท่าใดนัก หรือบางทีก็นับแผ่นแบบอาคารที่ทำให้ลูกค้าคูณออกมาเป็นค่าแบบของสถาปนิกเราเองเลยก็มีไม่น้อย เหตุเพราะลูกค้ามองว่ามันคือกระดาษธรรมดา ชั่งกิโลขายได้ไม่กี่สตางค์เท่านั้นเอง คำถามที่น่าเศร้าในประเด็นนี้ก็คือ “สถาปนิกอย่างเราเป็นแค่คนขายกระดาษจริงหรือ???”
เมื่อย้อนกลับมาดูการคิดค่าแบบของสถาปนิกตามมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่เราคุ้นเคยกัน ถือเป็นความฝันอันสูงสุดของสถาปนิกชาวไทย ซึ่งเมื่อเป็นความฝันแล้วจึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงในชีวิตของเราแต่อย่างใด และเมื่อเราดูให้ไกลต่อไปถึงมาตรฐานค่าออกแบบอาคารราชการที่มีค่าเท่ากับร้อยละ 1.75 ของมูลค่าก่อสร้าง ก็เป็นเรื่องเศร้าที่อาจเรียกได้ว่าเป็นโศกอนาฏกรรมสำหรับสถาปนิกไทยเลยทีเดียว เพราะค่าแบบจำนวนนี้ (ซึ่งต้องแบ่งให้วิศวกร ช่างเขียนแบบและที่ปรึกษาด้านอื่น ๆ อีกมากมาย) ก็ไม่รู้ว่าสถาปนิกจะหลงเหลือทุนรอนใดให้ใช้สำหรับสร้างสรรค์งานให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากลได้อย่างไร
นอกจากนี้มีความน่าสนใจเกี่ยวกับการคิดค่าแบบของสถาปนิกไทยอีกประการคือ เราจะคิดแบบเหมาโดยรวมเอาค่าออกแบบของวิศวกรผู้เกี่ยวข้องทุกอย่างให้มาอยู่ในส่วนของสถาปนิกทั้งหมด ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีการจำแนกออกเป็น Specialist ต่าง ๆ ดังนั้นหากสถาปนิกต้องการให้งานของตนมีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นตามการใช้สอยที่ซับซ้อนขึ้น อาทิ การจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง ด้านการออกแบบแสงสว่าง ฯลฯ เหล่านี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้จะเป็นคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือจะเป็นภาระการเสียเงินของใคร
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในสังคมไทยมักใช้ตรรกะหรือวิธีการตัดสินใจเลือกสินค้าหรือบริการ Pricing เป็นสำคัญ โดยไม่สนใจว่าสิ่งใดต้องใช้ปัจจัยทางด้านราคาเป็นตัวตัดสิน หรือสิ่งใดต้องใช้ปัจจัยด้านคุณภาพมาใช้ตัดสิน วิธีคิดแบบนี้จึงหมายความว่า สังคมเราจะตัดสินใจเลือกสถาปนิกหรือบริการของสถาปนิกด้วยการดูราคาว่าถูกหรือแพงเพียงปัจจัยเดียวเหมือนกับการซื้อผักซื้อหมูในตลาด โดยไม่สนใจว่าคุณภาพหรืองานที่ตนเองจะได้รับเป็นอย่างใด แต่สิ่งที่น่าสนใจต่อมาคือ ถ้าสินค้าหรือบริการนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นความตาย ความสวย ความหล่อ หรือความอ้วนความผอมของตนเองเมื่อใด เช่น ค่ารักษาพยาบาล รักษาสิว ไปจนถึงซื้อคอร์สลดความอ้วนที่ว่าไม่แพงเท่าไหร่ คนไทยก็ยินยอมที่จะจ่ายโดยไม่มีข้อต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งแนวทางการแก้ไขนั้นก็ไม่ยากเลย โดยการสร้างความรับรู้ถึงความสำคัญของวิชาชีพ อันเป็นสิ่งซึ่งสถาปนิกในระดับบุคคลและองค์กรวิชาชีพต้องกระทำอย่างต่อเนื่องอย่างไม่ท้อถอย ควบคู่ไปกับการให้บริหารต่อสังคมและลูกค้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ประโยชน์และเข้าใจถึงคุณภาพของงานที่จะเกิดขึ้นจากการให้บริการของสถาปนิก ในส่วนขององค์กรวิชาชีพก็คงต้องผลักดันแนวคิดและนโยบายเรื่องคุณภาพของงานสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับค่าใช้จ่ายที่เป็นธรรมของสถาปนิกต่อหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีความรู้ความเข้าใจ และดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงอย่างเป็นรูปธรรมให้จงได้ต่อไป
และแล้วผมก็ได้นำเสนอ 10 จุดตายของสถาปนิกไทยมาจนครบต่อเนื่องมาหลายฉบับ ตั้งแต่เรื่องการคิดราคาค่าก่อสร้าง, ข้อกฏหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ, รายการประกอบแบบ, การทำโปรแกรมการใช้สอยอาคาร DOCUMENT PAPER, TEAM LEADER, CONSTRUCTION PROCESS, 2ND LANQUAGE: ENGLISH, NOT FOLLOW UP มาจนถึง LOW FEE ในฉบับนี้ หวังว่าคงสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองและแนวทางการปรับปรุงแก้ไขให้แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานตามสายวิชาชีพ เพื่อพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมไทยต่อไปในภายหน้านะครับ
Builder Vol.24 OCTOBER 2015