สถาปนิกไทย ส่วนใหญ่มักถูกปลูกฝังผ่านหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนให้มีความชอบ และหลงรักในวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม หรือ Project Design มากกว่าวิชาเรียนอื่น ๆ โดยไม่รู้ตัว ความรู้สึกนี้จะเข้มข้นขึ้นไปตามปีเรียนที่เพิ่มขึ้นจนพัฒนากลายไปเป็นความหลงรักอย่างหัวปักหัวปำ และกินไม่ได้นอนไม่หลับหากไม่ได้คิดแบบกันเลยทีเดียว ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นการเรียนจนถึงการประกอบอาชีพ นักเรียนสถาปนิกและสถาปนิกทั้งหลาย จึงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำแบบ การ Sketch แบบ ไปจนถึงการคิดแบบร่างให้เป็นแบบจริงกันอยู่ตลอดเวลา

และเมื่อเราย้อนดูบรรดาสรรพหลักสูตรของสรรพสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมในบ้านเรา ยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนว่า เราต้องการให้นักเรียนสถาปัตย์จบไปเป็นสถาปนิกที่ทำงานด้านออกแบบกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นแล้วไซร้ เนื้อหาหลักสูตรแทบทุกสถาบันจะเน้นหนักและให้ความสำคัญไปที่วิชาการออกแบบ (สถาปัตยกรรม) รวมไปจนถึงโครงสร้างหลักสูตรและวิชาเรียนที่เกี่ยวข้องจะจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนวิชาออกแบบกันอย่างออกหน้าออกตาเลยทีเดียว

ดังนั้น เราจะเห็นได้จากจำนวนหน่วยกิตของวิชาออกแบบที่มีมากกว่าวิชาอื่นๆ หรือเวลาเรียนต่อสัปดาห์ที่ต้องเรียนมากกว่า และยังไม่นับรวมเวลาที่นักเรียนสถาปัตย์จะเอาแบบมานั่งคิดในชั่วโมงเรียนอื่น หรือโดดเรียนไปทำงานแบบอีกนับไม่ถ้วนจาก (เวร) กรรมดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า นักเรียนสถาปนิกและสถาปนิกจึงอยากทำแต่งานออกแบบกันโดยไม่ใส่ใจใฝ่รู้ในวิชาความรู้ด้านต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นวิธีการและพิธีกรรมให้เกิดตัวอาคารสถาปัตยกรรมจริงๆ แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่งานออกแบบเป็นงานเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างงานสถาปัตยกรรมทั้งระบบ แหม ก็ทุ่มเทกันซะขนาดนี้ จะไม่ให้สถาปนิกไทยเราหลงใหลใฝ่ฝันอยากเป็น Superstar Architects หรือ Great Architect อย่างปู่ Frank อย่างคุณพี่ Rem หรือน้า Saha คุณอา Toyo กันได้อย่างไรกันล่ะครับ

ปัจจุบันในวงวิชาชีพสถาปนิกบ้านเราจึงมีแต่สถาปนิกที่ถนัดหรือไม่ถนัดแต่คิดว่าถนัดการคิดแบบ ออกแบบ ทำแบบ เพื่อให้ลูกค้าประทับใจในผลงานแบบของตัวเองกันเป็นจำนวนมากเต็มประเทศไปหมด ราวกับว่า…เรา… สถาปนิกไทย…เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ (ออกแบบ) เลยจริงๆ แต่ถ้าหากเราดูต่อไปถึงเนื้อหาของงานสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้น เช่น การหาข้อมูลสนับสนุนการทำงาน การศึกษาข้อกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การประสานข้อมูลกับวิศวกร ทำแบบงานระบบที่เกี่ยวข้อง ทำแบบพิมพ์เขียว ทำเอกสาร Specification และงานอีกร้อยพันอย่างไปจนถึงช่วงก่อสร้างจริง เช่น การประมูลงาน การควบคุมงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จ จะกลับกลายเป็นว่าสถาปนิกไทยเรามักจะใบ้รับประทาน และเกิดภาวะโรคเอ๋อฉับพลันกับงานทำแบบให้เป็นอาคารจริงเหล่านี้กันทุกถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในความจริงที่ปรากฏในสังคมโลกและสังคมเรา เมื่อเปรียบเทียบความสามารถทางการออกแบบที่สถาปนิกไทยเราชื่นชอบกันนักหนาผ่านทักษะ Creativity, Performance และ Skill ในการทำงาน ไปจนถึงผลงานการออกแบบอาคารที่เป็นที่ยอมรับในสากล ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยค่อนข้างต่ำอยู่ดี เมื่อเทียบกับสถาปนิกในภูมิภาคทั้งไกลและใกล้บ้านของเรา ความจริงอันน่าเศร้านี้สะท้อนความเป็นมาและเป็นไป และบ่งบอกถึงปัญหาหลายต่อหลายอย่างในวงการศึกษาและวงการวิชาชีพสถาปัตย์บ้านเรา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งยากที่จะแก้ไขให้หมดสิ้นหรือบรรเทาเบาบางลงได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งหรือต่อให้อีกหลาย ๆ คนก็ตาม

กรรมของสถาปนิกนี้ถูกสะสมมาตั้งแต่สมัยเรียนมาเป็นเวลายาวนานไปจนถึงตอนทำงานจริง และเป็นกรรมที่กระทำซ้ำๆ กันจนติดเป็นนิสัยไปจนถึงสันดอนของตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดกรรมหรือขุดสันดาน เอ๊ย! สันดอนของสถาปนิกไทย ให้สิ้นซากหรือเหี้ยนเต้ไปทันทีทันใดได้อย่างแน่นอน จากผลแห่งกรรมเหล่านี้ คงไม่ใช่เวลาที่เราจะมาหาแพะให้มาร้อง ..แบ๊ะ..แบ๊ะ ว่าใครเป็นผู้สร้างบาปนี้ให้เกิดขึ้นกับสังคมสถาปนิกไทย เพราะจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ ครูบาอาจารย์สถาปัตยกรรม สถาปนิกรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นเพื่อน ในอดีตและปัจจุบัน หรือแม้แต่นักเรียนสถาปนิกที่จะกลายร่างเป็นสถาปนิกในอนาคต ล้วนแล้วแต่ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับบาปกรรมนี้กันทุกถ้วนหน้า เพียงแต่ใครจะรับไปมากหรือน้อยก็คงต้องมาจัดประชุมหารือเพื่อแบ่งบาปกันอีกที

หลังจากเกริ่นนำมาพอควรแล้ว เมื่อลองทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมจากบาปกรรมต่างๆ ที่เกิดและก่อขึ้นโดยชาวสถาปนิกในบ้านเรา ก็พอจะมองเห็นได้ว่าสถาปนิกไทยในยุคปัจจุบันมี (บาป) กรรมที่นำไปสู่จุดอ่อน หรือจุดด้อยกับองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่ต้องใช้เอามาทำมาหากิน ซึ่งก็มีอยู่หลายปัจจัยที่มีผลต่อสถาปนิกไทย

427158ae
COST: การคิดราคาก่อสร้าง

เรื่องการคิดราคาและประมาณราคาก่อสร้างอาคารก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลอย่างมาก ซึ่งเป็นเหมือนยาขมหม้อใหญ่สำหรับสถาปนิกไทยที่ชอบนึกเหมาเอาว่าตนเองเป็น Great Architect เขาจึงไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องราคาก่อสร้างให้มากไปกว่าความเชื่อที่ว่า การประมาณราคาก่อสร้างคือ “เอาตารางเมตรคูณพื้นที่ก่อสร้าง” หนำซ้ำแล้วเราก็ยังเชื่ออย่างฝังหัวอีกว่าวิธีนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ผลกรรมที่ตามมาในชาตินี้ก็คือ แบบบ้านหรืออาคารที่สถาปนิกออกแบบร้อยละ 99.99 จึงเกินงบประมาณที่เคยบอกกล่าวกับลูกค้าเมื่อตอนแรกเริ่มต้นเสมอ และเป็นเหตุให้สถาปนิกจะถูกลูกค้าต่อว่าเรื่องความไม่น่าเชื่อถือทางราคาและงบประมาณการก่อสร้างกันอยู่เสมอ

วิธีการคำนวณราคาก่อสร้างแบบเหมารวมต่อตารางเมตรที่สถาปนิกไทยชอบใช้ (และเอาไปคิดต่อเป็นประมาณการค่าแบบของตัวเองได้แบบเร็วๆ) ถือเป็นวิธีประมาณราคาที่หยาบและไม่ถูกต้องมากที่สุดในบรรดาวิธีคิดราคาที่มีอยู่ในโลก เพราะว่าในอาคารแต่ละประเภท หรือการใช้งานพื้นที่ในแต่ละจุดย่อมมีต้นทุนทางราคาและรูปแบบวัสดุการตกแต่งที่ต่างกัน และยังรวมไปถึงอุปกรณ์และการตกแต่งพื้นฐานที่ควรมีในห้องหรือพื้นที่ เพราะมันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้ค่าก่อสร้างตั้งแต่ 8,000 ไปจนถึง 15,000 หรือ 20,000 บาทต่อตารางเมตร มาเหมาคิดเท่ากันตลอดอาคารทั้งส่วนระเบียง ดาดฟ้า กับส่วนห้องน้ำ หรือห้องนอนแน่ๆจุดเริ่มต้นของกรรมนี้น่าจะเกิดขึ้นจากสมัยเรียน นักเรียนสถาปนิกทั้งหลายไม่ต้อง Concern กับราคาค่าก่อสร้างอาคาร เพราะโปรแกรมการออกแบบที่อาจารย์มอบให้ทุกเทอมๆ ไม่เคยมีการให้คะแนนหรือพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและราคาค่าก่อสร้างจากงานของนักเรียนสถาปนิกแม้แต่น้อย สิ่งนี้จึงเป็นจุดที่นักเรียนสถาปนิกซึมและซับมาโดยตลอดชีวิตการเรียน และคิดเหมาเอาว่าตนเองไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องราคาก่อสร้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ทัศนคติในแง่ลบที่ตัวสถาปนิกมีต่องานประมาณราคาก็เป็นเหตุผลสำคัญ เพราะในฐานะผู้ออกแบบ เราก็มักคิดเอาเองอีกว่างานเหล่านี้เป็นงานในระดับผู้ปฏิบัติการ ไม่ใช่งานของหัวหน้า หรือ Team Leader อย่างผู้ออกแบบ เราจึงคิดอย่างมั่นใจว่างานนี้จะมีคนมาทำต่อจากเราให้แล้วเสร็จ และเราก็ไม่ต้องสนใจกับเรื่องนี้อีกต่อไป ทั้งที่ความรู้ความเข้าใจเรื่องราคา เรื่องการเลือกใช้วัสดุมีผลสำคัญยิ่งต่อการออกแบบ การก่อสร้างไปจนถึงการควบคุมงบประมาณให้ตรงตามกำหนด

หากมองหาแนวทางแก้ไขก็ไม่ใช่จะไม่มีทาง เพียงแต่สถาปนิกควรพึงระลึกว่าการประมาณราคาที่ควรจะเป็น ต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริงของการใช้งานแต่ละส่วนของอาคาร โดยก่อนจะประมาณราคาแบบหยาบๆ นี้เราต้องกำหนดให้อาคารแต่ละส่วนมีค่าถ่วงเฉลี่ยที่มากน้อยต่างกันตามมูลค่าก่อสร้างจริงของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของรูปแบบการใช้สอย วัสดุตกแต่งพื้นฐานส่วนงานสถาปัตยกรรมและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามความเป็นจริง เช่น การประเมินราคาก่อสร้างอาคาร ส่วนระเบียงบ้านจะมีค่าถ่วงเฉลี่ยเป็น 0.5 ของราคาก่อสร้างพื้นฐานต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่เมื่อเทียบกับห้องนอน และเช่นเดียวกันที่การประมาณค่าก่อสร้างห้องน้ำจะมีค่าถ่วงเฉลี่ยเป็น 1.5 เมื่อเทียบกับห้องนอน เป็นต้น นอกจากนี้ ในการเรียนการสอนสถาปัตยกรรม ในวิชาออกแบบต้องนำประเด็นเรื่องราคาก่อสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตลอด ตั้งแต่การทำแบบร่างไปจนถึงแบบ Final และต้องมีการ Critic แบบและตรวจสอบข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณก่อสร้างอย่างจริงจัง ตั้งแต่การควบคุมพื้นที่ใช้อาคารให้เหมาะสมกับงบประมาณ การศึกษาราคาค่าก่อสร้างและราคาวัสดุควบคู่ไปกับการเลือกวัสดุก่อสร้างในงานแบบ ไปจนถึงการเลือกวิธีการก่อสร้างและการประเมินราคาก่อสร้างจากงานที่ทำอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ซึ่งในโอกาสหน้าผมจะมากล่าวถึงกรรมข้ออื่นบ้าง กรรมที่จะสร้างจุดตายให้กับสถาปนิกไทย เพื่อให้เป็นข้อคิดและแนวทางในการทำงานกันต่อไปครับ


นิตยสาร Builder Vol.15 JANUARY 2015

อ่าน: จุดตายสถาปนิกไทย (ตอนที่ 2)

Previous article“AS2” เครื่องบินเร็วเหนือเสียงลำแรกของโลก ทดสอบเที่ยวแรก 2019
Next articleนักจุลชีววิทยาชู “ชีวะคอนกรีต” ซ่อมแซมรอยร้าวเองได้ เพื่ออนาคตวงการก่อสร้าง
ผศ.รัชด ชมภูนิช
ที่ปรึกษานิตยสาร Builder คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์