ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ตอนนี้ทั่วโลกเปรียบเสมือนภาพบนผืนผ้าใบที่ศิลปินอย่างสถาปนิกต้องเพิ่มสีเขียวเข้าไปให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำให้ โดยเฉพาะกับพื้นที่เมืองที่ต้องยอมรับว่าขาดสีเขียวและต้องได้รับการเติมเต็มอย่างเร่งด่วน

แม้แต่เมืองหลวงจากอีกซีกโลกอย่างปารีสของประเทศฝรั่งเศสก็หันมาจริงจังกับเรื่องนี้ เพราะ Anne Hidalgo นายกเทศมนตรีกรุงปารีสถึงกับประกาศแผนการสร้างสิ่งที่เรียกว่า “urban forest” หรือป่าเมือง ตั้งใจปลูกต้นไม้ในเมืองสำหรับพื้นที่แลนด์มาร์กทั้ง 4 แห่ง ได้แก่  de l’Hotel de Ville, the Gare de Lyon, the Palais Garnier และทางเท้าริมแม่น้ำ Seine

ครั้งนี้ BuilderNews ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการดูสถาปัตยกรรมสวย ๆ ที่คุ้นตา มาเป็นภาพในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมาถึงของการออกแบบภูมิทัศน์ผังเมืองสีเขียวกันบ้าง อะไรที่อยู่เบื้องหลังการประกาศครั้งนี้ของฝรั่งเศส และแนวทางนี้จะนำมาปรับใช้ในไทยได้ไหม ลองมาดูไปพร้อมกัน

พันธกิจสีเขียวจากคลื่นความร้อน

ฉันเชื่อว่าปารีสต้องปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป” – Anne Hidalgo

เรารู้กันดีว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือเริ่มละลาย อุณหภูมิภายในโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงทุกวินาที นับวันโลกยิ่งร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทั้งหมดก็มีวาระเร่งด่วนซ่อนเร้นอยู่ ทำให้ปารีสต้องลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายเพิ่มต้นไม้จาก 2 เหตุผล ดังนี้

  1. ฝรั่งเศสเข้าร่วม Project Carbon Neutral Cities Alliance คือการร่วมมือกันของเมืองระดับโลกชั้นนำที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 80% หรือมากกว่าภายในปี 2593
  2. แผนการปลูกต้นไม้ครั้งนี้เป็นความต้องการที่จะเพิ่มออกซิเจนภายในเมืองขึ้นอีก 50% หรือครึ่งหนึ่งของพื้นที่
ต้นไม้หลายต้นจะนำมาปลูกบริเวณด้านหลัง Opera House

ป่าเล็กในเมืองใหญ่จะเริ่มทยอยปลูกขึ้นบริเวณทิศเหนือของ Gare de Lyon หนึ่งในสถานีรถไฟหลักในปารีส ด้านหลัง Palais Garnier โรงละครโอเปร่าแห่งศตวรรษที่ 19 และบริเวณลานด้านหน้าของ Place de l’Hotel de Ville

ร่มไม้ต้องไม่บังความงามของสถาปัตย์

ถึงจะให้น้ำหนักกับความร่มรื่นและสีเขียวมากแค่ไหน แต่ถ้าถึงขนาดจะให้กลายเป็นป่าล้อมเมืองก็ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ไปหน่อย ส่วนนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในข้อตกลงหรือบรรทัดฐานของโครงการ ตามที่นายกเทศมนตรีได้กล่าวไว้ว่า ต้องไม่ปิดกั้นภูมิทัศน์ของสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงเหล่านี้

ปูสนามหญ้าบริเวณริมแม่น้ำแซนเพื่อรักษาความงามของมรดกโลกไว้

หลังจากตกลงกับ UNESCO แล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าในบางพื้นที่อย่างริมฝั่งแม่น้ำแซน จะเลือกสร้างสวนที่ใช้พื้นหญ้ามากกว่าการปลูกต้นไม้เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพที่สวยงาม

แปลนการออกแบบพื้นที่สีเขียวที่ Gustafson Porter + Bowman เคยทำให้กับปารีส

นอกจากแลนด์มาร์กทั้ง 4 ที่แล้ว อนาคตยังแผนการปลูกต้นไม้สีเขียวในสนามเด็กเล่นทั้ง 28 แห่ง รวมทั้งพื้นที่ที่เคยได้ลงมือไปแล้วอย่างสวนบริเวณรอบไอเฟลจากสตูดิโอภูมิสถาปัตยกรรม Gustafson Porter + Bowman จากลอนดอนเองก็จะกลับมาปลูกเพิ่มและขยายพื้นที่สนามหญ้าที่นำไปสู่หอไอเฟลก่อนกาจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2024 ที่ปารีส

ไม่ใช่ประเทศที่โลกต้องหลงรัก แต่ยังมีประโยชน์กว่านั้น

เรื่องสัญญาไม่ใช่เหตุผลเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ปารีสหันมาปลูกต้นไม้ แต่บทบาทของการสร้างป่าในเมืองยังมีมิติอื่นอีกหลายอย่างมาก ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัย เช่น มีป่าในเมืองช่วยเพิ่มพื้นที่สันทนาการช่วยกระชับผู้คนในเมืองเข้าด้วยกัน เพราะเมื่อมีแหล่งธรรมชาติ คนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาว่างกับพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นมากกว่าอยู่ติดบ้าน การควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศและเสียง เพราะสามารถกรองมลพิษได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ กับการกำบังช่องว่างเพื่อเก็บเสียง

แนวคิดเรื่องการสร้างป่าไม้ในเมืองยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าสนใจอีก จากบทความเรื่อง การทบทวนแนวคิดป่าไม้ในเมือง (URBAN FOREST) ที่เขียนโดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แบ่งประเภทบทบาทของการสร้างป่าไม้ในเมือง (urban forestry) ว่าประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามีความคิดแตกต่างกันในการสร้างป่า กล่าวคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วและใช้รูปแบบอุตสาหกรรม การสร้างป่านั้นคิดถึงเรื่องการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับประโยชน์ด้านทัศนียภาพเป็นสำคัญ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่ยากจนกว่า “ป่าไม้” คือปัจจัยตอบสนองความต้องการพื้นฐาน เช่น การเป็นแหล่งพลังงานขั้นต้นจากฟืน ฯลฯ

 

ตัวอย่างของป่าไม้ในเมืองที่สำคัญ เช่น

  • เมือง Minneapolis มลรัฐ Minnesota สหรัฐอเมริกา (กรณีต้น Elm)
  • มลรัฐ Maryland และ New York สหรัฐอเมริกา ที่มีองค์กรเอกชนทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่น
  • กรุง Nairobi ประเทศเคนยา และกรุง Prague ประเทศ Czech Republic (กรณีต้นไม้ริมถนน)
  • เมือง Yokoyama ประเทศญี่ปุ่น (กรณีการวางแผนจัดการพื้นที่ป่า)
  • เมือง Debre Birhan ประเทศเอธิโอเปีย (กรณีการปลูกไม้เพื่อฟืน)
  • เมืองฮ่องกง (กรณีที่เน้นการใช้พื้นที่และหาพื้นที่สีเขียว)
  • ประเทศสิงคโปร์ (กรณีการเพิ่มออกซิเจนให้ประเทศ)
  • เมือง Colima ประเทศเม็กซิโก (กรณีการมีส่วนร่วมภาคประชาชน)

สำหรับบ้านเราเองก็มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเช่นกัน ทั้งข่าวการสร้างสวนสาธารณะ ฯลฯ รวมถึงการใช้กิมมิคของการสร้างพื้นที่สีเขียวไว้สร้างคุณค่าและมูลค่าของสถาปัตยกรรม หวังว่ารายละเอียดและการมองภาพรวมของปารีสจะเป็นอีกแนวทางที่ทำให้การสร้าง “ป่าในเมือง” ของพื้นที่เมืองอื่น ๆ ในไทยได้ไอเดียไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

การทบทวนแนวคิดป่าไม้ในเมือง (urban forest)

Paris plans to go green by planting “urban forest” around architectural landmarks

Previous article‘Stray Bird’ Boutique Hotel สุดชิคในแดนมังกร !
Next articleโช๊คประตู Model 85 รองรับทุกการเปิด-ปิด
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ