เรารู้ดีว่าเมืองไม่ได้หน้าตาเหมือนเดิม เมืองไม่ค่อยให้ความสำคัญสิ่งอื่นนอกจาก “คน” ทุกความคิด ทุกแผนผัง เกิดมาเพื่อมนุษย์ทั้งนั้น

เมื่อพื้นที่จำกัดและนับวันพื้นที่ทั้งหมดของเมืองจะโดนกวาดไปให้มนุษย์เสียหมด สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิชาการที่ใส่ใจโลกเลยเริ่มทยอยมาบอกว่า เราต้องคิดถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศน์เสียบ้าง เพราะถึงพวกมันจะไม่สามารถมาพูดสื่อสารกับเราตรง ๆ ได้ แต่ทั้งสัตว์และพืชก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ “เมือง” อยู่ดี และมนุษย์เรานี่แหละที่ควรทำหน้าที่รักษามันไว้

ถ้าดินโดนเอาไปใช้ประโยชน์สำหรับสร้างถนนหนทางและบ้านเรือน ซึ่งก็แปลได้ตรง ๆ ว่าจะไม่มีดินสำหรับปลูกต้นไม้ได้อีก สวนสาธารณะเองก็บางตา แล้วจะทำอย่างไรกับต้นไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัด comteและ meuwly 2 สถาปนิกชาวสวิสจึงปิ๊งไอเดียว่าจะสร้างโครงเหล็กยาว ๆ สามอันมาขัดกันและเจาะยึดลงไปที่พื้น โดยส่วนบนยอดวาง Mistletoe บอลขนาดยักษ์ไว้

โปรเจกต์นี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘amour éternel’ หรือที่แปลว่ารักนิรันดร์เพื่อเรียกร้องให้คนหันมาตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่วันหนึ่งเจ้าต้น Mistletoe อาจจะสูญพันธุ์จากสาเหตุหลัก ๆ คือดินไม่ดีพอที่จะทำให้ต้นไม้โต และนกในเมืองที่ทำหน้าที่เป็นตัวขยายพันธุ์ทางธรรมชาติ จากการกินผลของมันแล้วขับถ่ายก็จำนวนลดลง

โครงสร้างของบ้านนกที่ความสูง 18 เมตร

ประโยชน์หลัก ๆ มันมาจากตัว Mistletoe กลม ๆ ใหญ่ ๆ นี่แหละที่จะกลายเป็นบ้านใหม่ให้กับนกในเมือง ขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนวงจรการเติบโตของพืชด้วย โดยเขาจะไปหว่านผลเบอร์รี่ Mistletoe ต่าง ๆ ที่นกชอบไว้บนนั้น เมื่อนกเข้าไปกินแล้วมันจะได้ทำหน้าที่หว่านกระจายเมล็ดเหล่านี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ

คนส่วนใหญ่จะสงสัยว่า เมื่อ Mistletoe มันคือต้นกาฝากที่โตด้วยการไปเกาะอยู่กับต้นไม้อื่น แล้วชิงอาหารเอาเพื่อการเติบโต มันจะสูญพันธุ์ไปได้ยังไง? คำตอบก็ย้อนกลับไปอย่างที่บอกคือนกมันน้อย ต้นไม้ก็น้อย ส่วนดินด้านล่างก็ยังไม่ดีอีก ดังนั้นต่อให้เป็นกาฝาก ความเป็นไปได้ที่จะขยายพันธุ์ก็ต่ำอยู่ดี

แล้วทำไมถึงต้องเริ่มที่สวิตเซอร์แลนด์ ความจริงแล้วสำหรับพวกเราเองอาจจะมองภาพไม่ออกเพราะอยู่ในไทย บริบทความเป็นอยู่ก็ต่างกัน แต่สำหรับชาวสวิส เหตุผลที่สถาปนิกเขาเลือกลงแลนด์มาร์กที่โลซาน เพราะแต่ก่อนพื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่สีเขียว มีโครงสร้างทางเดินต่าง ๆ ที่เป็นสีเขียวเยอะ จนกระทั่งความเจริญรุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เหลืออยู่จากต้นไม้ใหญ่เลยกลายเป็นหญ้าเตี้ย ๆ ที่ไม่ได้มีไว้ให้นก แต่อาจจะเป็นสวนสาธารณะไว้หย่อนใจคนแทน

พอมาดูจากกรณีนี้มันสะท้อนให้เห็นได้ว่า “สีเขียว” ที่ถูกเอามาใช้สำหรับโปรโมตการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่หลายแห่งมองว่าเป็นจุดขาย บางครั้งมันก็ไม่ได้ฟังก์ชันสำหรับวัฏจักรของสิ่งมีชีวิต

เราอาจจะไม่เคยรู้ว่า การล้อมต้นไม้มาลงในโครงการให้ร่มรื่น ความแข็งแรงของต้นไม้น้อยกว่าไม้ที่ยืนต้นในพื้นที่นั้น

เราอาจไม่เคยรู้ว่าดินที่เคยดี พอวันหนึ่งสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่เหมาะกับการเติบโต

เราคิดว่าสนามหญ้าสวย ๆ คือพื้นที่เหมาะ ๆ ที่เราอยากเห็นมันทุกวัน แต่ลืมคิดว่ามันใช้พื้นที่กว้างขนาดไหนเพื่อโค่นต้นไม้เดิมลง แล้วสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้นล่ะจะไปอยู่ตรงไหน พืชพรรณแถวนั้นจะได้รับผลกระทบไหม

บางครั้งไอ้ที่เห็นว่า “เขียว” ก็เป็นการทำลายโลกใบนี้เหมือนกัน ดังนั้น ลองใช้ความรู้ความสามารถของพวกเราที่มีช่วยเหลือมัน เราคงไม่ได้บอกให้คุณไปนั่งปลูกต้นไม้ เพราะกว่ามันจะโตอาจจะอีกนานก็ได้และคุณก็อาจจะไม่ใช่นักปลูกต้นไม้มือดี แต่การลองคิดให้รอบด้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ปรับพฤติกรรม หรือใช้ทักษะที่มีผ่านการออกแบบนี่แหละคือความรักที่ยั่งยืนที่เรามอบให้โลกได้

 

อย่ายอมแพ้สถาปนิกสวิสนะ
คนไทยเราเองก็มีดีไม่แพ้ใครเขาเหมือนกัน

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.designboom.com/architecture/comte-meuwly-birdhouse-amour-eternel-eternal-love-lausanne-09-19-2019/

ภาพทั้งหมดนำมาจาก: Designboom.com

Previous articleเพิ่มความเป็นส่วนตัวด้วยผนังตกแต่งดูดซับเสียง “Zandera Set”
Next articleเปิดประสบการณ์การชมฟุตบอลสุดล้ำกับห้องพัก Exclusive ชั้นบนสุดของสนาม The Al Bayt Stadium ที่กาตาร์