ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อน เราได้เห็นข่าวเพลิงไหม้บริเวณสายไฟต่าง ๆ บ่อยครั้ง จึงเป็นคำถามที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลยหรือ? หรือเราจะจัดการอย่างไร ให้ไม่เกิดเหตุการณ์ที่มีความสูญเสีย ดังเช่นเหตุเพลิงไหม้ที่สำเพ็ง ที่กลายเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับการไฟฟ้า ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการนำ “สายไฟเหล่านี้” ลงดิน?

เรามาดูกันว่า เสาไฟ 1 ต้น มีสายอะไรพาดอยู่บนนั้นบ้าง?

ข้อมูลจากการไฟฟ้าเผยว่า ถนนสายหลักในไทยนั้นจะติดตั้งเสาไฟฟ้า 4 ขนาด ได้แก่ เสาสูง 22 เมตร, 12 เมตร 10 เมตร และ 8.50 เมตร ตามซอกซอยส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 12 เมตร และ 8.50 เมตร

  • เสาไฟฟ้าที่สูง 12 เมตร บนสุดจะเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์ สายไฟนี้เข้าใกล้ไม่ได้ จึงต้องตั้งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร
  • รองมาความสูงจากพื้นในระดับ 8 เมตร จะเป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ คือสายไฟที่ต่อโยงจ่ายเข้าบ้านเรือน
  • และความสูงระดับ 5 – 5.50 เมตร ที่เห็นหลาย ๆ เส้นขดกันจำนวนมากคือสายสื่อสารโทรคมนาคม ประกอบด้วยสายออพติกไฟเบอร์ คือสายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิลโทรศัพท์, สายเคเบิลทีวี, สายควบคุมสัญญาณจราจร และสายสื่อสารกล้องวงจรปิด

ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 ระบุว่า “หากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตรวจพบว่าการพาดสายและ/หรือติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไม่ถูกต้อง ผู้ขออนุญาตต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มิฉะนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอาจพิจารณายกเลิกการอนุญาต”

คำถามคือ แล้วสายไฟที่ยุ่งเยิงตามที่เราเห็นกันนั้น แม้จะได้รับอนุญาตจาก กฟน. แล้ว แต่การพาดไปมา พันมั่วรุงรังนั้น ถือว่าผิดข้อกำหนดข้างต้นหรือไม่? เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นก็มาจากสายไฟเหล่านี้ไม่ใช่หรือ? แล้วทำไม กฟน. ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อีก ควรเร่งจัดการทำระเบียบที่ระบุไว้ทันทีไม่ใช่หรือ?

ปัญหาเหล่านี้ลากยาวมานานหลายสิบปี เป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้เสียที แม้แต่ “Russell Crowe” ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ก็ยังเซลฟี่ตัวเองด้วยฉากหลังที่เต็มไปด้วยสายไฟระโยงระยาง “Abema” สื่อญี่ปุ่นประมาณข้อมูลว่า ต้องใช้เวลาถึง 200 ปี สายไฟถึงจะลงใต้ดินหมด

Photo by mianism on Unsplash

การนำสายไฟฟ้าลงดินไม่ใช่เรื่องใหม่ กฟน. เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2527 แต่มาจริงจังในสมัย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี พ.ศ.2559 มีการเซ็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่าง กฟน., TOT, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) ในชื่อโครงการ “โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน”

แผนนี้ครอบคลุมพื้นที่ กทม., สมุทรปราการ และนนทบุรี ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2527 – 2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการ แล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร การนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นงานที่หนักหนาสาหัสพอควร แต่คำถามคือ “ทำไมถึงล่าช้าขนาดนี้?” เรามาไล่ไทม์ไลน์กัน

15 ตุลาคม 2556 ครม. เห็นชอบ แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก ของ กฟน. ในพื้นที่ถนนสายหลัก ในวงเงินลงทุนรวม 8,899.58 ล้านบาท

1 กันยายน 2558 ครม. เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดย กฟน. ดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็น “มหานครแห่งอาเซียนของ” จำนวน 39 เส้นทาง ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน 48,717.2 ล้านบาท

31 มกราคม 2560 ครม. เห็นชอบให้ กฟน. ดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 9,088.8 ล้านบาท

9 มกราคม 2561 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง)

24 กันยายน 2562 ครม. มีมติรับทราบแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ  จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 251.6 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2564 รวม 5 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 46.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย

– แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า โครงการถนนสีลม ปทุมวัน และจิตรลดา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2547-2552 โครงการพหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท) ระยะทาง 24.4 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กิโลเมตร

6 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบในหลักการให้ กฟน. ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)  วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,673.40 ล้านบาท ระยะทางรวม 20.5 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ

– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนรัตนาธิเบศร์ (ถนนราชพฤกษ์-ถนนกาญจนาภิเษก)
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี-ถนนติวานนท์
– เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563-2566

14 กรกฎาคม 2563 ครม. มีมติรับทราบรายงานผลดำเนินตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน (เดือนธันวาคม 2562) มีแผนงาน/โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กิโลเมตร จำนวน 3 แผนงาน

– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) รวมระยะทาง 25.2 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รัชดาภิเษก รวมระยะทาง 22.5 กิโลเมตร
– แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน รวมระยะทาง 127.3 กิโลเมตร

แผนการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ฉบับ (Quick Win)  รวมระยะทาง 20.5 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 ประกอบด้วย

– พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงถนนรัตนาธิเบศร์ ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนกาญจนาภิเษก
– ช่วงถนนกรุงเทพ-นนทบุรีถึงถนนติวานนท์
– พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท ช่วงซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง

22 มิถุนายน 2565 กทม. หารือ กฟน. เดินหน้าจัดระเบียบสายไฟ-สื่อสารลงดินรวม 236 กม. พร้อมเชื่อมระบบร้องเรียนกับ Traffy Fondue

กฟน. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทาง 236.1 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร

เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน

โดยมีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย แนวถนนสายหลัก แนวรถไฟฟ้า ย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ และตามนโยบายของหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ รูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย

วิธีเปิดหน้าดิน (Open Cut) เป็นการขุดถนนลงไปอย่างน้อย 80 เซนติเมตร เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้า จากนั้นฝังกลบกลับสภาพเดิม
วิธีการดันท่อ (Pipe Jacking) ใช้สำหรับการก่อสร้างสำหรับวางบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าบนถนนจราจร
วิธีการดึงท่อ (Horizontal Directional Drilling : HDD) ใช้สำหรับการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าจากบ่อพักไปยังจุดจ่ายไฟต่างๆ
วิธีการขุดเปิด (Open Cut) ใช้สำหรับการก่อสร้างบ่อพักและวางท่อร้อยสายไฟฟ้าบนทางเท้า

Cr. ภาพจาก markus winkler

“มหานครไร้สาย” ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ความฝันของคนเมืองมีความเป็นไปได้ ที่จะได้เห็นสายไฟฟ้าเหล่านี้หายไปกับอากาศ แต่ด้วยอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การประสานงาน การร่วมมือกัน บางพื้นที่อาจไม่สามารถใช้วิธีใดจัดการกับการลงดินได้ ด้วยข้อจำกัดของชั้นผิวดิน ซอยที่แคบ ผังเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย ปัจจัยเหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การดำเนินการล่าช้าเป็นเวลาร่วม 40 ปี

ในอนาคตหากมีการนำสายไฟฟ้าเหล่านี้ลงดินได้แล้ว ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันทุก ๆ หน่วยงานในการวางแผนสายไฟ หากวันใดวันหนึ่ง มีหน่วยงานมาเจาะพื้น เจาะผิดขึ้นมาไฟดับใครจะรับผิดชอบ โครงการนี้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบและคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากวางแผนได้อย่างดี สร้างโครงสร้างที่แข็งแรง เป็นระบบระเบียบ ที่สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้าและคมนาคม ก็จะเป็นทางออกสำคัญในการใช้งานทั้งปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน

เราต่างก็หวังเห็นคุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น ทั้งเรื่องสายไฟฟ้า เรื่องทางเท้าคนเดิน เรื่องปากท้อง เรื่องคมนาคม ฯลฯ แต่ด้วยปัญหาโครงสร้างใหญ่ของประเทศ อาจทำให้เรื่องเหล่านี้ดำเนินการอย่างล่าช้า แม้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่คำถามคือ “เมื่อไหร่..? ที่เราจะได้ใช้ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” อย่างที่เขาว่าสักที…

Previous articleเหตุผลทางสถาปัตยกรรมของดวงตาที่จ้องคุณไม่หยุดในอาคารเหล่านี้
Next articleสีสันใหม่วัดอรุณราชวรารามฯ กับการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานงานศิลป์ในปี 2565
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ