เทรนด์การทำอาหารกำลังมา แต่หลายคนยังขาดแรงบันดาลใจลงครัว BuilderNews เลยขอนำเทรนด์แต่งครัวที่ได้อ่านมาจาก “Decoist” เว็บไซต์ด้านการออกแบบมาแบ่งปัน สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยาก จับตะหลิว จับกล้อง ไปพร้อม ๆ กัน

ลองมาดูกันว่าปี 2020 นี้ อะไรจะร้อนแรงสำหรับการแต่งครัว ชวนให้อยากเข้าไปอยู่ในนั้นยาว ๆ

จัดเต็มด้วยสีน้ำเงิน

ถึงหลายคนจะบอกว่า “สีฟ้า” เป็นสีที่ไม่ทำให้เราเจริญอาหารเท่าไหร่แต่สำหรับเรื่องการทำอาหาร อันนี้อาจจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องยกเว้นไว้ โดยเฉพาะปีนี้สีน้ำเงินอย่าง “Classic Blue” เพิ่งถูกเลือกเป็นสี Pantone ประจำปี ดังนั้นในแง่การออกแบบห้องทั้งหลาย รวมทั้งห้องครัว การใช้สีติดเทรนด์อย่างสีน้ำเงินจึงเป็นแนวทางที่กำลังมาในปีนี้

ใครที่มีครัวที่ดีแต่อยากประยุกต์แค่บางส่วน Decoist แนะนำว่าให้หา element ที่มีสีน้ำเงิน หรือทาตู้ใบเดิมให้กลายเป็นสีน้ำเงินเพื่อสร้างมิติให้ห้องครัวแทน การเลือกสีฟ้าเข้าไปแซมครัวช่วยแปลงสไตล์ครัวเราให้ได้กลิ่นอายและบรรยากาศใหม่ ท้าทายภาพลักษณ์เรื่องการดีไซน์ด้วยว่า เราไม่ใช่พวก old fashion ก้นครัว แต่ทันสมัยทั้งความคิดและมุมมอง

ใส่เรขาคณิตเข้าไปเบรกเพิ่มความแปลกตา

Geometric (เรขาคณิต) กับการตกแต่งภายในไม่เคยตกยุค การตกแต่งครัวปี 2020 ให้โดดเด่นจึงเน้นอาศัยเส้นสายแนว Geometric สร้างความแตกต่าง เพื่อล้างความจำเจปีนี้ Decoist แนะนำให้แต่งครัวด้วยเส้นสาย Geometric ที่หลากหลาย เช่น การเลือกใช้กระเบื้องแบบแพทเทิร์น 3 มิติ เสริมบรรยากาศให้พื้นห้องครัวด้วยการปู 3 ใน 4 ขอครัวเพื่อสร้างคอนทราสต์กับพื้นไม้เดิม เป็นต้น

การใช้กระเบื้องหกเหลี่ยมตกแต่งบริเวณผนังก็ฮิตเหมือนกัน ยิ่งสะท้อนกับเคาน์เตอร์หินอ่อนสีขาว ทำให้ภาพเหมือนลายพาดลงมาต่อด้านล่างยิ่งสร้างความน่าสนใจ
บางคนเน้นใช้กระเบื้องแนว Geometric หลายสีตัดกับเครื่องครัวโลหะ ขับให้ภาพครัวเด่นชัดมีสไตล์

เลือกใช้วัสดุหินกับหินอ่อน

ถ้าอยากเปลี่ยนหน้าตาครัว การเลือกโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือวัสดุที่ทำจากหินอ่อนชิ้นใหญ่สักชิ้นมาวางก็เปลี่ยนได้แล้ว เพราะเสน่ห์ของวัสดุประเภทนี้คือความวาวที่ทำให้ดูใหม่เสมอ และสร้างความรู้สึกซับซ้อนทางอารมณ์ทุกครั้งที่มองเห็น อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเรื่องการดูแลทำความสะอาดที่ทำได้ง่ายจึงเหมาะแก่การเลือกใช้ในห้องครัว หลายปีมานี้เราจึงมักเห็นการแต่งครัวสไตล์โมเดิร์นส่วนมากใช้หินอ่อนทั้งสีขาวและสีดำ

คอนกรีตหินผสานกับไม้ สร้างความคอนทราสต์และเพิ่ม texture ให้ครัวน่ามอง

ครัวต้อง ไม้+ ขาว

ไม่รู้ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คนหันมาเลือกใช้วัสดุประเภทไม้กับสีขาวเป็นสีแห่งชาติในห้องครัว แต่ถ้าว่ากันด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์และการดีไซน์ การใช้วัสดุและสีขาวหรือสีสว่างจะช่วยให้ห้องนั้นโปร่งขึ้นและดูโมเดิร์นกว่าสีสันอื่น ๆ

ในปี 2020 ถ้าครัวใครยังใช้สีขาวอยู่ก็ถือว่าไม่เอ้าต์ แต่นับว่าเป็นการแต่งที่มินิมัลแต่ได้ผลทั้งภาพลักษณ์และจิตวิทยาการใช้งานที่ทำให้เรารู้สึกอยากอยู่นาน ๆ ไม่อึดอัด

แค่โชว์บางส่วนอย่างขอบโต๊ะที่เป็นไม้ตัดกับสีขาว ก็ช่วยให้ห้องครัวเล็ก ๆ ดูน่าอยู่ขึ้น
หาความสมดุลบาลานซ์ระหว่างสีขาวกับไม้ และการจัดไฟจะช่วยให้ครัวโดดเด่นและทันสมัยขึ้น

แต่งกรอบหน้าต่างให้เตะตา

บางคนเลือกใช้เฟรมไม้ตัดกับผนังสีขาวเพิ่มความอบอุ่นละมุนตาให้ห้องครัว

หนึ่งในวิธีที่บ้านเราอาจจะยังไม่ค่อยเอามาใช้กัน แต่เป็นแนวตกแต่งที่ต่างประเทศนิยมมากคือการแตกสีกรอบหน้าต่างให้เตะตาด้วยการใช้สีที่เข้ม เพราะสีเข้มไม่เพียงแค่สะดุดตาเวลาเห็นเท่านั้น แต่เมื่อเลือกจุดที่ทาสีเข้มไว้บริเวณหน้าต่างที่มีแสงและภาพทิวทัศน์ด้านนอก จะช่วยสร้างความสว่างไสว น่าเข้าครัวมากกว่าเดิม

เพิ่มแสงสว่างเรืองรองด้วย LED

ไฟ LED ติดเคาน์เตอร์เป็นเทรนด์ที่มีมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว แต่ส่วนมากเรามักจะเห็นเขาใช้กันกับบาร์หรือร้านอาหารมากกว่าครัวในบ้าน ปีนี้ใครที่อยากจะลองอินเทรนด์กับเขาบ้างลองติดไฟ LED ไว้บริเวณใต้เคาน์เตอร์หรือมุมเพดานที่ปกติจะสลัวเป็นมุมอับดู จะลองใช้สีขาวหรือไฟแนวนีออนดูก็ได้ แล้วเราจะรู้สึกเหมือนได้ครัวใหม่ ตอนไม่เปิดก็มู้ดหนึ่ง ตอนเปิดก็อีกแบบ ที่สำคัญถ้าครัวเราใหญ่หน่อย มีโต๊ะกินข้าวตรงกลางด้วย สามารถปรับเคาน์เตอร์ให้กลายเป็นพื้นที่ปาร์ตี้ได้สบาย ๆ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

6 เทรนด์การปรับครัวรับปี 2020 นี้มีแนวไหนที่ถูกใจพวกเราบ้างไหม ? คิดว่าคงไม่ยากเกินไปสำหรับการตกแต่งครัวที่บ้านทุกคน เพราะเน้นเปลี่ยนสีสัน หรือเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นก็ปรับลุคให้ดูเหมือนเปลี่ยนห้องครัวใหม่แล้ว ใครลองแต่งเจ๋ง ๆ แล้วอย่าลืมเอารูปมาโชว์กันบ้างล่ะ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Top Kitchen Trends for 2020: 30 Inspirations to Get Your Kitchen Makeover Started

Previous articleเผยผลประกอบการ เอสซีจี เซรามิกส์ ไตรมาส 4 และผลประกอบการปี 2562 พร้อมขยายสาขา “คลังเซรามิค แฟมิลี่” โมเดลใหม่
Next article“ELECTRICAL ENCLOSURE” by NANO ELECTRIC PRODUCT