ถ้าพูดถึง “อิฐ” ในบรรดา 77 จังหวัดของประเทศไทยเรา จังหวัดแรกที่แวบขึ้นมาว่าจะมีสถาปัตยกรรมแนวนี้คงไม่พ้น “อยุธยา” เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณสถานในอดีตของไทยที่ก่อร่างด้วยอิฐเป็นจำนวนมาก เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของไทยก่อนจะย้ายที่ตั้งมาเป็นกรุงเทพมหานคร
กระทั่งทุกวันนี้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างจากอิฐ ที่ให้ลุคโมเดิร์นก็ยังต้องยกให้จังหวัดอยุธยา ถ้าคุณเคยชอบไปแวะเวียนร้านอาหารริมน้ำเจ้าพระยาของโครงการ The Wine Ayudhaya ที่เป็นผลงานของ ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา และ Nathan Mehl อีกแห่งที่กำลังน่าสนใจและเหมาะไปเยือนเพื่อพักผ่อนช่วงวันหยุดยาวที่จะถึงนี้คงมีร้านอาหารริมน้ำและที่พักแห่งใหม่อย่าง “บ้านป้อมเพชร” เป็นหนึ่งในลิสต์นั้น
สิ่งที่ทำให้ “บ้านป้อมเพชร” น่าสนใจ ก็เพราะเป็นโครงการที่เพิ่งเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ และได้รับการพูดถึงในเว็บด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมในระดับสากลอย่าง Designboom ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
ร้านอาหารสมัยใหม่ที่กลมกลืนกับบริบทแวดล้อม
“บ้านป้อมเพชร” เป็นทั้งร้านอาหารและโรงแรมริมน้ำเจ้าพระยาที่ตั้งอยู่ถัดจากป้อมปราการเก่าในอยุธยา ออกแบบให้กับคุณสราลี รัตนภุชพงศ์ โดย Studio onion และ ดร.ม.ล. จิตตวดี จิตรพงศ์
ด้วยทิวทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำและป้อมเพชร ป้อมซึ่งยังคงตระหง่านเหลือไว้เพียงแห่งเดียวจากเดิม 29 ป้อม จึงเป็นที่มาของชื่อร้านอาหาร “บ้านป้อมเพชร” และบริบทของแวดล้อมไม่เพียงส่งอิทธิพลให้กับชื่อเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบสถานที่ด้วย รวมทั้งต้นโพธิ์ที่เคยอยู่ในบริเวณจุดชมวิวก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีระหว่างก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
ทันทีที่เห็นรายชื่อของผู้ออกแบบ ไม่ต้องแง้มดูรายละเอียดก็อยากดูต่อทันที เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2015) ทั้ง 2 ฝ่ายเคยร่วมกันแสดงผลงานออกแบบผนังอิฐ Brick a Brac : Wall holder ที่จัดแสดงใน Milan design week 2015 ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีชื่อเสียงในวงการสถาปัตยกรรมด้วยกันทั้งนั้น
- ดร.ม.ล. จิตตวดี จิตรพงศ์ผู้สืบเชื้อสายราชสกุล “จิตรพงศ์” สืบศักดิ์เป็นเหลนในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ทำให้มั่นใจว่างานชิ้นนี้จะมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์ผสมรูปแบบที่ทันสมัย เพราะครั้งหนึ่งคุณแว๋วเคยมีความคิดริเริ่มด้านงานอนุรักษ์โบราณวัตถุที่บ้านปลายเนินมาก่อน ขณะเดียวกันก็เรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ และเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ของทฤษฎีสถาปัตยกรรมระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ AA (Architectural Association School of Architecture) กรุงลอนดอน อีกทั้งปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ของทำเนียบคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
- Studio Onion หรือทีมหัวหอม ทีมคุณภาพในวงการสถาปัตย์ที่สร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักมากมาย ทั้งโรงแรมในเครือศาลา อาทิ ศาลาเขาใหญ่, ศาลารัตนโกสินทร์ และศาลาอยุธยา นอกจากนี้ยังมีงานออกแบบบ้าน ห้องอาหาร และโปรเจกต์พิเศษอื่น ๆ มากมาย แถมผู้ก่อตั้ง 2 คนก็ไม่ธรรมดาเพราะคนหนึ่งเคยผ่านการทำงานให้ Zaha Hadid Architects ส่วนอีกคนก็เคยทำงานให้ Orbit Design Studio
ไม่เพียงการสร้างอาคารให้สอดคล้องกับบริบทรอบข้าง แต่ภายในก็ออกแบบไว้ได้น่าสนใจ เพราะแปลนของที่นี่ตั้งใจให้ผู้มาเยือนและผู้อยู่อาศัย (กรณีที่มาพักในโรงแรม) ได้เสพทิวทัศน์เต็มตาทุกองศา แต่ขณะเดียวกันก็ยังแยกพื้นที่เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวของโรงแรมไว้ โดยวางให้จุดชมวิวเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ไม่ว่าใครเข้ามาก็สามารถเดินผ่านเพื่อซึมซับบรรยากาศได้ ส่วนพื้นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้านก็อยู่ในบริเวณใกล้กันและได้รับการออกแบบให้เข้ากันอย่างกลมกลืน
นอกจากดีไซน์ วัสดุก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งเสริมการออกแบบ “บ้านป้อมเพชร” นั้นเลือกใช้อิฐด้วยเหตุผลเดียวกับที่บอกตอนต้น คือ “อิฐ” เป็นวัสดุที่พบได้ทั่วไปในอยุธยาและเป็นโครงสร้างหลักของป้อมเพชรนั่นเอง
เสน่ห์ความคราฟต์ที่ไม่ทิ้งลายความเป็นไทย
ทำไมต้องอิฐทำมือ? ในยุค 4.0 อย่างนี้ อิฐบล็อกเดียวกันคงหาได้ไม่ยาก แต่นักออกแบบเลือก “อิฐทำมือ” เพราะมีเสน่ห์และชีวิตชีวามากกว่า แต่ละก้อนลักษณะไม่เหมือนกัน แถมไม่เท่านั้น ที่นี่ยังสร้างด้วยอิฐทำมือที่มีขนาดต่างกันถึง 4 แบบมาก่อสร้าง ตั้งแต่ 4-15 เซนติเมตร เพราะคำนึงเรื่องการก่อของอิฐต่างขนาด ต่างก้อนที่เรียงต่อกันว่ามันช่วยสร้างความสวยงามของพื้นผิวผนังได้ ที่สำคัญยังจับแสงและสร้างเงาได้ต่างกัน ดูได้ไม่รู้เบื่อ
ถ้าสังเกตดี ๆ สีของอิฐก็ยังส้มไม่เท่ากันด้วย เหตุผลของสีอิฐที่ค่อนข้างจะมีสีไม่เท่ากันเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการควบคุมเตาอบฟืนแบบคราฟต์ ต่างจากโรงงานอื่น ๆ ถึงจะดูไม่เนี้ยบคลีนแบบที่เราคุ้นเคย แต่นี่ก็เป็นความสวยไม่ซ้ำใครที่นับเป็นข้อดีอีกอย่างของการทำมือ
แล้วอิฐพวกนี้มาจากไหน? อิฐจำนวนนับไม่ถ้วนเหล่านี้ผลิตขึ้นจากโรงงานท้องถิ่นที่ชื่อว่า BPK ซึ่งใช้ระยะเวลาขนส่งห่างจากไซต์ก่อสร้างประมาณ 30 นาที ลักษณะพิเศษของมันจึงมีทั้งเรื่องขนาดที่เล็กเพื่อใช้ก่อกำแพงและปูพื้น 6 แบบแตกต่างกัน
นอกจากอิฐที่ไทยทำ สร้างรายได้ให้ชุมชนและสร้างสถาปัตยกรรมไทยไปพร้อมกัน องค์ประกอบแต่ละอย่างยังสอดแทรกความหมายที่สัมพันธ์กับสถานที่และวิถีชีวิตไทยได้อย่างลึกซึ้งภายใต้รูปทรงอันเรียบง่ายด้วย
- สีส้ม สะท้อนเมนูซิกเนเจอร์ของร้านอาหารและซิกเนเจอร์ความเป็นอยุธยาอย่างกุ้งแม่น้ำเผา
- โคมไฟที่ถอดแบบจากชนาง ชนางเป็นอุปกรณ์จักสานที่ใช้สำหรับจับกุ้งและปลาตัวเล็ก ๆ ในแม่น้ำ นำมาปรับแบบให้เป็นโคมไฟแขวนติดเพดาน
- ห้องพักโรงแรม ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากการใช้สี 2 สีที่มาจากอาหาร ด้านล่างห้องออกแบบด้วยสี “เขียวชะพลู” ใช้สีเขียวเข้มของใบชะพลูซึ่งเป็นใบไม้ที่เป็นวัตถุดิบของอาหารไทย เช่น เมี่ยง มีรสขมเล็ก ๆ ส่วนห้องด้านบนเป็นสี “เหลืองขนุน” ผลไม้ที่เรามักเห็นเป็นส่วนประกอบของขนมหวานไทย ให้รสชาติหวานสดชื่น
- กระเบื้องเซรามิก งานกระเบื้องที่เลือกมาตกแต่งห้องน้ำก็ไม่ธรรมดา ใช้ของไทยอีกแล้วเช่นกัน ผลิตคราฟต์มือจากจังหวัดลำปาง
- ลูกบิดประตูแกะสลักรูปหนุมานเป่าลม หนุมานอยู่ในมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์ เป็นบุตรของพระพาย นำมาตกแต่งในพื้นที่นี้เพื่อสร้างบรรยากาศและดึงความเชื่อในวรรณคดีให้สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่ที่มีลมพัดผ่าน เย็นสบายตลอด
จากอรรถรสที่แทรกอยู่ในรสชาติอาหารถึงสถาปัตยกรรม ความเป็นท้องถิ่น ความเป็นไทย และความแตกต่างคือกระแสที่กำลังหวนกลับมาอีกครั้งในทุกวงการ สิ่งเหล่านี้กลับมาเพื่อบอกเราว่าภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษส่งต่อล้วนคัดสรรมาแล้วผ่านกาลเวลา รากเหง้าคือเสน่ห์ที่ไม่มีวันตาย และสร้างความรู้สึกเมื่อสัมผัสสิ่งที่มีความหมายคือสิ่งที่ผู้คนในยุคนี้ตามหามากกว่าความสวยงามชั่วครั้งคราว
เติมเต็มบ้านตามฉบับสถาปัตยกรรมไทย
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีกระเบื้องหลังคาหลากหลายชนิดให้เลือก แต่กระเบื้องดินเผาก็ยังหลังคาที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านเรือนไทยและหลังคาวัดวาอาราม เพื่อคงความสวยงามคลาสสิกแบบดั้งเดิม เปรียบเสมือนเป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตย์ไทยไปแล้ว
SCG จึงได้พัฒนากระเบื้องดินเผาออกมา เพื่อตอบโจทย์สถาปัตย์ทั้งงานหลังคาวัด และงานหลังคาบ้าน ได้แก่
- กระเบื้องหลังคาดินเผา เอสซีจี รุ่นสุโขทัย มีรูปทรงปลายแหลมคล้ายใบโพธิ์ ตามคติความเชื่อที่ว่าหากนำมามุงเป็นหลังคา จะเสมือนได้อยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร กระเบื้องรุ่นนี้นิยมมุงแบบชั้นเดียว เหมาะกับหลังคาวัดหรือหลังคาภายในวัด เช่น หลังคาโบสถ์หลังคาอาคารการเปรียญ หลังคาหอระฆัง และหลังคาเรือนไทย
- กระเบื้องหลังคาดินเผา เอสซีจี รุ่นเกล็ดปลา รูปทรงคล้ายดอกบัวหรือเกล็ดปลา บริเวณช่วงปลายจะแหลม นิยมมุง 2 ชั้น ประกอบไปด้วยกระเบื้องแผ่นสั้นและแผ่นยาว เหมาะกับหลังคาภายในวัดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น หลังคาพระอารามหลวง หลังคาอาคารต่างๆในวัด และหลังคาเรือนไทย
จุดเด่นของกระเบื้องหลังคาแบบดินเผา เอสซีจี อยู่ที่การคัดสรรเนื้อดินที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานและการเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซียลเซียส ผลิตภัณฑ์กระเบื้องดินเผา เอสซีจี จึงแข็งแรง ทนทาน รูปลักษณ์สวยงามตามแบบฉบับไทยแท้ และที่สำคัญ ยังให้สีที่สดสวย ติดแน่นสม่ำเสมอทั่วทั้งแผ่น
สนใจกระเบื้องดินเผา SCG สามารถเข้าไปดูลายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3f7sdkU
all images by Wworkspace
แผนที่ร้านป้อมเพชร