เคยสงสัยไหมคนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อความเป็นไทยอย่างไร และเคยสงสัยไหมคนรุ่นใหม่มีไอเดียอะไรเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะบ้าง?

โครงการประกวดแบบ “Uniquely Thai” Envisioning the 21st Century Bangkok’s Civic Center Architectural Design Competition จากความร่วมมือของสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) และครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) ภายใต้การสนับสนุนจากบริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPFC) ระบุวัตถุประสงค์คือเพื่อหาสุดยอดผลงานการออกแบบพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนหรือ “Civic Center” แห่งอนาคตที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นควบคู่ไปกับความยั่งยืน รองรับความต้องการที่หลากหลายมิติ เข้าถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งเป็นจุดหมายด้านวัฒนธรรมและสร้างเสน่ห์ความเป็นไทยสู่สากลโลกด้วยพลัง ‘ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ผ่านผลงานการออกแบบ

จาก 178 ผลงานที่คนรุ่นใหม่ส่งเข้าประกวดภายใต้โจทย์ “Uniquely Thai” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีมอบรางวัล กับ 3 ไอเดียที่ชนะเลิศ ได้แก่

Civic Center เพื่อจัดการความเหลื่อมล้ำทางสังคม

จากภาพของวัดวาอาราม ตึกระฟ้า สถาบันการศึกษา ฯลฯ ในกรุงเทพฯ ที่งดงาม สะท้อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยในสายตาของทุกคน เขาชี้ว่ายังมีเบื้องหลังเป็นปัญหาใหญ่แอบซ่อนอยู่ คือความเป็นศูนย์รวมปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนระดับต้น ๆ แห่งหนึ่งของโลก บ้านเมืองที่สวยงามก็ตั้งอยู่บนผังเมืองที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งพ่วงด้วยปัญหาการคมนาคม ทำร้ายสุขภาวะผู้คน ไม่ตอบโจทย์ภาวะเร่งรีบของคนในพื้นที่ ทั้งยังมีปัญหาการจัดการการศึกษาอีก ทั้งหมดนี้นำมาสู่แนวคิดหลักของผลงาน Civic Center เพื่อขจัด “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม”

“แม้กรุงเทพมหานครในสายตาของทุกคนจะสวยงามมากเพียงใด แต่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาใหญ่แอบซ่อนอยู่” นางสาวมนัสนันท์ เดชะสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของรางวัลชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา เล่าถึงแนวคิดในการสร้างผลงาน

วิธีการที่เขาใช้ คือการออกแบบอาคารให้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังชุมชนต่าง ๆ ในรูปแบบทางเดินเท้า เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของชุมชนทั้งในแง่วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เด็กและเยาวชน และสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน โดยดีไซน์เล่นกับแสงและลมจากความสัมพันธ์กับสถานที่จริง สอดคล้องกับระดับความเป็นส่วนตัวและสาธารณะในพื้นที่นั้น ๆ

ในแง่เอกลักษณ์ความเป็นไทย เขาเลือกนำเสนอผ่านความอ่อนช้อย “สิ่งที่ชาวไทยมีร่วมกัน” มาสอดแทรกเข้ากับสถาปัตยกรรมทันสมัย สร้างเอกลักษณ์ให้โครงการนี้

เมื่อ Metaverse เจอกับเขาพระสุเมรุ

มนุษย์เราเองก็สามารถที่จะอวตารไปสู่สวรรค์ในจินตนาการด้วยสิ่งที่เรียกว่า Metaverse ได้เช่นกัน

“เขามอ” ภูมิจักรวาลตามความเชื่อของไทย และ “เขาพระสุเมรุ” ที่เป็นดั่งสรวงสวรรค์ เป็นภูมิทัศน์ที่ นายสิปปวิชญ์ รู้อยู่ และนางสาวฑิมพิกา เวชปัญญา แห่งทีม Cosmic Civic Center ใช้ในการออกแบบผลงาน “Metaverse – ดินแดนสุขวดี สู่ พื้นที่สามัญชน” ทีได้รางวัลชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป สอดคล้องไปกับแนวคิดของเมืองกรุงเทพฯ ที่ว่า “กรุงเทพ เมืองเทพสร้าง” โดย “Metaverse” คือสิ่งที่พวกเขาหยิบมาใช้ผสมผสาน นำเสนอความล้ำสมัยควบคู่กับความวิจิตร สอดรับกับกระแสของโลกดิจิทัลที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ “ความไร้ขีดจำกัด” ของโลกเสมือนก่อให้เกิดวิสัยทัศน์อย่าง “go limitless” ที่จะ “ออกแบบพาคนไทยก้าวไปอีกขั้น แต่ยังคงยึดมั่นในรากฐานภูมิปัญญาความเป็นไทย”

ตัวอาคารที่ลอยอยู่เหนือพื้นเปิดให้มีพื้นที่ใต้ถุนไว้ใช้งานต่าง ๆ และรับน้ำ มาจากรูปแบบของสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือเขาพระสุเมรุ และภูมิทัศน์โดยรอบที่ล้อไปกับลักษณะทางกายภาพและน้ำดั่งมหานทีสีทันดรมาจากเขามอ พื้นที่ภายในตั้งใจจะเสริมสร้างและส่งเสริมศักยภาพของคนไทยด้วยการเป็น Big data หรือคลังความรู้ของคนกรุงเทพฯ ทั้งยังมีพื้นที่ให้ไปสู่โลกเสมือนอย่าง Metaverse พร้อมสำหรับต่อยอดและส่งเสริมผู้ใช้ในหลายด้านเพื่อดึงศักยภาพคนไทยอีกด้วย

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเอกลักษณ์ไทย

ด้านผลงานที่ได้รางวัล Popular vote เป็นผลงานจากแนวคิด “เอกลักษณ์ไทยอนันตกาล” นำเสนอความเป็นไทยที่เป็นหนึ่งเดียวเชื่อมโยงกันข้ามตัวแปรกาลเวลา ตั้งแต่ “ความงามยุคโบราณที่เป็นความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ความจริงในปัจจุบันของสังคมไทย และอนาคตที่คนไทยวาดฝันที่จะสร้างเมืองไทยในอนาคตให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน” โดยจัดแสดงร่วมกันในอาคารแห่งเดียว ที่วางคอนเซ็ปต์ให้มีกิจกรรมหมุนเวียนไปตามเทศกาลไทยในแต่ละเดือน “เกิดพื้นที่ที่มีประโยชน์เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ไทยเดิมให้คงอยู่ เพื่อเผยแพร่ให้คนรับรู้ถึงสิ่งดีงามของไทยมากขึ้น และพร้อมที่จะนำเอกลักษณ์ไทยเคลื่อนตัวไปในโลกอนาคต”

Sources

Previous article6 จุดต้องรู้ ก่อนติดตั้งตู้ชาร์จรถ EV ที่บ้าน
Next articleแผงโซลาร์ใครว่าต้องอยู่บนหลังคาเท่านั้น? ส่องนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่คุณสามารถเดินเหยียบได้!