ทุกวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำหนดเป็น ‘วันไม้เท้าขาวสากล’ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมโลกตระหนักและส่งเสริมศักยภาพของคนพิการทางสายตา โดยมีไม้เท้าขาวเป็นสัญลักษณ์ของคนพิการทางสายตาทั่วโลก

ที่ได้ชื่อว่าเป็นวันไม้เท้าขาว เนื่องจากไม้เท้าที่ได้มาตรฐานมักเป็นสีขาว เพราะสีขาวสามารถสะท้อนแสงได้ในความมืด ช่วยให้คนที่เดินไปมาทั้งทางเท้าและทางถนนมองเห็นคนพิการทางสายตาที่เดินทางในเวลากลางคืนได้ และอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางได้อย่างสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เรียกว่า เบรลล์บล็อก แผ่นปูพื้นนำทางที่ถูกติดตั้งบนทางเท้าทั่วกรุงเทพมหานคร

แต่เครื่องมือเหล่านี้กลับไม่เอื้อต่อผู้พิการทางสายตา…

หากสังเกตทางเดินเท้าทั่วกรุงเทพมหานคร จะพบว่าทางเดินหลายจุดเต็มไปด้วย เบรลล์บล็อก ที่ถูกวางแบบมั่ว ๆ ทั้งปูไปชนเสาไฟ ปูวนเป็นเขาวงกต ปูไว้บนทางแคบ ๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการก่อสร้างที่ขาดความรู้ ความเอาใจใส่ รวมถึงความไม่มืออาชีพ และกำลังเปลี่ยนแปลงความสะดวก ความเสมอภาค ในการใช้สอยพื้นที่ของผู้พิการทางสายตาไปสู่อันตราย ทั้งที่ควรมีไว้เพื่อความปลอดภัย

Credit Photo By the SIDEWALK

ทำให้วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า ด้วยสภาพพื้นที่และความพร้อมในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องสร้างเบรลล์บล็อก ที่เป็นลักษณะไกด์บล็อก สำหรับใช้นำเส้นทางเดิน ขอเพียงแค่ลักษณะแจ้งเตือนหรือ Warning Block ให้ถูกต้องมีมาตรฐานก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการตาบอดอย่างมากแล้ว เช่น เตือนว่าข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง มีสัญญาณไฟแดง มีสำนักงาน ต้นไม้ จุดขึ้นลงบันได เป็นต้น

Credit Photo By the SIDEWALK

อย่างไรก็ตามแม้เป็นแค่ทางเท้า แต่ทางเท้าจุดเล็ก ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางที่สำคัญของคนจำนวนไม่น้อย นักออกแบบและผู้ก่อสร้างควรต้องรอบคอบและใส่ใจมากกว่านี้ รวมถึงการบำรุงรักษาและพัฒนาให้สอดรับกับการใช้งานของผู้พิการทางสายตาได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ

Previous articleรวมมาให้! วัสดุมุง “หลังคา” ยอดนิยม
เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน
Next articleConstruction Robotics เทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมวงการก่อสร้างในอนาคต
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม