พระราชกำหนดการบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันศุกร์ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อด้านอสังหาริมทรัพย์มากกว่าที่คิดไว้ จากการสำรวจความคิดเห็นของภาพเอกชนแล้วหลายราย กล่าวสอดคล้องกันว่า มีการบังคับใช้แบบรวดเร็วมากจนตั้งตัวไม่ทัน

ด้าน นายรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุกรมใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือนเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้กับภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าผู้ประกอบการรับทราบและเข้าใจข้อกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันแรงงงานต่างด้าวในประเทศไทย เรียกได้ว่ากว่าครึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

โดยสรุปสาระสำคัญจาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ อาทิ
-รับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ปรับ 4-8 แสนบาท/ต่างด้าว 1 คน
-เลิกจ้างหรือออกจากงานไม่แจ้งอธิบดีกรมการจัดหางาน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
– เรียกรับเงิน,ทรัพย์สินจากคนต่างด้าว จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
-หลอกลวงคนต่างด้าวทำงานโดยเรียกเงิน ทรัพย์สิน-ประโยชน์อื่น ๆ โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 6 แสน-1 ล้านบาท

ในมุมมองภาครัฐ บทลงโทษเป็นการปรับให้ใกล้เคียงกับกฎหมายอื่น ๆ จึงถือว่าเป็นการปรับให้สอดคล้องกันมากกว่า เช่น กฎหมายประมง โทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท กฎหมายการค้ามนุษย์-กฎหมายป้องกันการใช้แรงงานเด็ก ปรับสูงสุด 4 แสนบาท เป็นต้น

“เสียงสะท้อนที่ออกมาว่าโทษหนักและรุนแรงเป็นเพราะรัฐต้องการป้องปรามไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาโทษปรับสูงสุดแค่ 2 หมื่นบาทเท่านั้น ผู้ฝ่าฝืนจึงไม่เกรงกลัว”

ด้านภาคเอกชน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า หน่วยงานรัฐมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนจริง แต่การประกาศให้มีผลบังคับใช้รวดเร็วและฉับพลันมาก จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรให้มีเวลากลับไปแก้ไข ปรับปรุงทั้งฝั่งรัฐและเอกชน

ที่สำคัญทางรัฐควรจัดจำนวนศูนย์ลงทะเบียนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีต่างด้าวอยู่หนาแน่น ซึ่งข้อกังวลยังรวมถึงในช่วงรอยต่อของการบังคับใช้กฎหมายใหม่ อาจมีผลทำให้ไซต์ก่อสร้างมีการหยุดชะงัก จนกลายสภาพเป็นอัมพาตในระบบเศรษฐกิจ เพียงแต่ผลกระทบไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน

อีกมุมมองของ “ดร.สุริยา พูลวรลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ บอกว่าผลกระทบหลักอยู่กับผู้รับเหมาโดยตรง เพราะประกาศเร็วไปหน่อย ไม่มีช่วงระยะเวลาผ่อนผัน ดังนั้นไซต์ก่อสร้างทุกไซต์ต้องเจอเหมือนกัน เมื่อลงไปดูจะพบว่าผู้รับเหมาหลักเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงงานต่างด้าวราคาถูก ไซต์ก่อสร้างไหนที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายคงต้องใช้เวลาปรับปรุงแก้ไขปัญหาก่อนจะมีผลกระทบทำให้ส่งมอบงานไม่เป็นไปตามกำหนดงานจะดีเลย์ออกไป

ข้อเสนอแนะ คือ ผู้ประกอบการขอแค่เวลาปรับตัวก็พอ บอกล่วงหน้าถึงเงื่อนไขเวลาที่จะมีผลบังคับใช้ ให้เวลาผ่องถ่ายแรงงานไปทำให้ถูกต้อง ให้เวลาผู้ประกอบการหายใจ เพราะแรงงานมีขั้นตอนในการทำงาน บางคนมีใบอนุญาตแต่ไม่ได้ทำในพื้นที่เดิมก็ต้องใช้เวลาในการขอย้ายพื้นที่
“รัฐบาลควรมีบทเฉพาะกาลให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวโดยขยายเวลาบังคับใช้3 เดือน ผมว่าก็โอเคแล้ว”

Source : prachachat

Previous articleจิตอาสาทั้งไทยและต่างชาติร่วมมือกันสร้างโรงเรียน P’Yan เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อพยพบริเวณชายแดนไทย-พม่า
Next articleนักวิทย์ เผยความลับของเสาคอนกรีตโรมัน ที่สามารถคงอยู่ได้กว่า 2000 ปี