สถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่ถูกสร้างมาเนิ่นนาน การที่จะรักษามันไว้มีอยู่ไม่กี่ทางเลือก คือ ฟื้นฟูบูรณะให้คล้ายของเดิมมากที่สุด และอีกทางเลือกหนึ่งคือการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปเพื่อนำความร่วมสมัยเข้าไปสู่โครงสร้างเดิม และการพลิกโฉม “สะพานบรูคลิน” ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่นำอดีตไปสู่อนาคตในสิ่งปลูกสร้างเดียวกัน
จะเกิดอะไรขึ้นหากสถานที่ที่สำคัญของมหานครนิวยอร์กอย่าง “สะพานบรูคลิน” ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นเมืองลอยน้ำ? นั่นเป็นสิ่งที่สถาปนิกนามว่า Daniel Gillen ตั้งใจที่จะประกวดในโครงการของสถาบัน Van Alen ในการ “สร้างภาพลักษณ์ใหม่แก่สะพานบรูคลิน”
และด้วยแรงบันดาลใจจากรูปแบบดินแดนธรรมชาติที่พบตรงบริเวณริมน้ำ คอนเซปต์ “The Brooklyn Bluff” ก็ได้เกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดการเชื่อมกันระหว่างพื้นที่สาธารณะและธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดในเรื่องของโปรเจกต์ที่สามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้ใหม่ได้อีกด้วย
และเพื่อการพัฒนาในเรื่องของความยืดหยุ่นและประยุกต์ใช้ได้ โปรแกรมสำหรับ “โครงสร้างพื้นฐานที่มีชีวิต” ชิ้นนี้จะประกอบไปด้วยแหล่งที่อยู่อาศัย โรงแรม แหล่งวัฒนธรรม ร้านค้ารายย่อย และฟังก์ชันการใช้งานสำหรับสาธารณะในด้านต่าง ๆ โดย Daniel Gillen ตั้งใจจะให้มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และการดูแลรักษาสะพาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในระยะยาวสะพานแห่งนี้จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องการทุนเพื่อดูแลรักษาจากส่วนกลาง
การพลิกโฉมสะพานแห่งนี้เป็นการใส่สถาปัตยกรรมเพิ่มเข้าไปเพื่อออกแบบให้เห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างความร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ เพื่อคงไว้ซึ่งโครงสร้างและประวัติศาสตร์เดิมของสะพาน ความแข็งแรงและการใช้ประโยชน์ของสะพานจะสมดุลกับการพัฒนาสถาปัตยกรรมบนนั้น ด้วยการประเมินปัจจัยหลายประการรวมถึงสภาพสังคม รายได้ที่มั่นคงที่สะพานแห่งนี้จะสร้างได้ รวมไปถึงความปลอดภัย
โดยสวนสาธารณะขนาดใหญ่จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดสมดุลแก่การลงทุนสำหรับพื้นที่นี้ ซึ่งนักออกแบบกล่าวไว้ว่า “ความยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้แค่การตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น แต่มันต้องมีเป้าหมายเพื่อปรับให้เข้ากับผลกำไรในส่วนของสะพานนี้เพื่อความยั่งยืนทางการเงินของระบบสาธารณะอีกด้วย”
ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง สังคมควรต้องสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจว่าอนาคตนั้นเกิดจากการ “สนับสนุน” จากอดีตและความสัมพันธ์ทางชีวภาพระหว่างทั้ง 2 สิ่งนั้น ซึ่งจากความทะเยอทะยานของการสร้างสะพานเดิม “Brooklyn Bluff” จึงถูกสร้างขึ้นมาล้อมรอบท่าเรือในขณะที่โครงสร้างเคเบิลจะช่วยเสริมส่วนที่ยื่นออกมาให้สมดุล จึงเกิดเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ร่วมสมัยด้วยการผสมผสานของสิ่งปลูกสร้างหนึ่งที่ยืนอยู่บนประวัติศาสตร์ ในขณะที่อีกโครงสร้างกำลังเอื้อมไปแตะอนาคต
“แน่นอนว่ามวลมนุษยชาติต้องการอะไรที่มากกว่าจากเมืองและพื้นที่สาธารณะของตนเอง และด้วยระบบที่จัดลำดับความสำคัญให้ความต้องการของคนส่วนใหญ่ สถาปัตยกรรมจะเป็นสิ่งที่รับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น” Daniel Gillen กล่าว
เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้เราอาจจะได้เห็นภาพลักษณ์ของสะพานบรูคลินเปลี่ยนไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ไม่ว่ายังไง สะพานบรูคลินก็ยังเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ในขณะที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตด้วยสถาปัตยกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้มันเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก