วันนี้ (19 มิถุนายน 63) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ผู้ร่วมลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ฯ ประกอบด้วย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ผู้บัญชาการทหารเรือ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คุณพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และคุณภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลาง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบิน ภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่า และเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย 

โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

คุณสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือกลุ่มกิจการร่วมการค้าบีบีเอส ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กับทางภาครัฐโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ จากการผนึกกำลังของภาคเอกชนทั้งสามกิจการ ภายใต้ความร่วมมือกันใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่โดดเด่น สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดคืนให้กับภาครัฐและประชาชน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาประเทศไทย ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จากประสบการณ์ที่มีมากกว่า 20 ปี ในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย และได้เปิดให้บริการมาแล้ว 20 ปีเศษ รวมระยะทางให้บริการปัจจุบันเกือบ 60 กิโลเมตร และยังมีรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง-ชมพู และรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือจะเป็นโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้ดำเนินการมาจำนวนมาก

นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทบีทีเอส ยังได้ดำเนินธุรกิจด้านสื่อโฆษณานอกบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทำธุรกิจทางด้าน E-Payments และเทคโนโลยีด้านระบบเก็บเงิน ทำให้เชื่อได้ว่า กลุ่มบริษัท บีทีเอส จะสามารถช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถยกระดับสู่ศูนย์กลางมหานครการบิน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ของ อีอีซี นำไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป “บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชนชาวไทย และขอต้อนรับสู่ประตูเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก “Welcome to Our Gateway of EEC”

 

Previous articleมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ‘กลุ่มมหากาพย์ที่นอนยางพารา’ เข้าร้อง ปปง.-ปคบ. เร่งตรวจสอบเพจขายที่นอน
Next articleFPT แต่งตั้ง “ธนพล ศิริธนชัย” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นำทัพสร้างการเติบโตธุรกิจอสังหาฯ ครบวงจร
Ton Suwat
คอลัมนิสต์หนุ่ม ผู้หลงไหลในสถาปัตยกรรมไทยอีสาน และความง่ายงามตามวิถีชนบท