ท่ามกลางสถานการณ์การเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงเดินหน้าไปได้ดีในหลายๆ ภาคส่วน ตามที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้ว่าปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 4 อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนในภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทยในปีหมูทองนี้ยังคงมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดการณ์ไว้ว่าระหว่างปี 2561 – 2563 จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 – 9 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปริมาณงานก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยสามารถขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น

ในปี 2562 มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 950,200 ล้านบาท

โดยคิดเป็นมูลค่าของโครงการภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) รวมทั้งสิ้น 684,018 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 72 ของมูลค่าโครงการในปี 2562 ทั้งหมด ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยาน 3 แห่ง โครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดเฟสที่ 3 และโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก

หากพิจารณาความเป็นไปได้ของเม็ดเงินที่จะมีการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากโครงการที่กำลังก่อสร้างและโครงการใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2562 การเบิกจ่ายเงินของภาครัฐจากโครงการเมกะโปรเจกต์จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท เนื่องจากหลายโครงการอยู่ในขั้นตอนที่ต่อเนื่องของการเบิกใช้เงิน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาวัสดุก่อสร้างที่ซื้อขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์กระเบื้อง และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ จำนวน 134 รายการ จะพบว่าดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2562 เท่ากับ 107.7 ( ปี 2553 = 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เท่ากับ 107.4 )

จะเห็นได้ว่าธุรกิจก่อสร้างในปีหมูทองยังไม่มีภาวะที่น่าเป็นห่วงมากนัก อัตราการเติบโตยังคงมีความต่อเนื่อง ประกอบกับเม็ดเงินโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่กำลังอยู่ระหว่างการเบิกจ่ายและบางส่วนก็ไหลเข้าสู่ระบบแล้ว ยิ่งกระตุ้นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจก่อสร้างทั้งในส่วนของต้นน้ำ คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มปลายน้ำคือกลุ่มผู้รับเหมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงพื้นที่ที่ระบบโลจิสติกส์เข้าไปก่อสร้างในอนาคตอาจจะมีการสร้างคอนโดมิเนียม คอมมูนิตี้มอลล์ ห้างสรรพสินค้า หรือ อสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มช่องทางให้กับผู้รับเหมารายอื่นๆ ในการเข้าไปก่อสร้างโครงการต่างๆ รวมถึงการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย

หากบริบททางการเมืองของประเทศมีเสถียรภาพก็จะยิ่งเป็นแรงหนุนให้ธุรกิจก่อสร้างไทยเติบโตได้ดีตลอดทั้งปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 2563 ด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจากนิตยสาร ข่าวช่าง Contractos’ ฉบับเดือนพฤษาคม-มิถุนายน

อ้างอิงภาพประกอบจาก ” PIXABAY ”

Previous articleโช๊คประตู Model 85 รองรับทุกการเปิด-ปิด
Next article“บางบอน พลาสติค” พร้อมโชว์นวัตกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า “Nano Electric Product”
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ