ภายในพื้นกว้างใหญ่ไพศาล กว่า 2,000 ไร่ ของ “วัดพระธรรมกาย” มีสิ่งก่อสร้างก่อสร้างอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำมากมาย โดยสิ่งที่มีความโดดเด่นมากที่สุด ต้องยกให้มหาวิหารรูปหล่อทองคำแท้ วิหารทรงพีระมิด และอาคารทรงกลม ลองมาดูกันว่า สิ่งก่อสร้างสุดตระการตาเหล่านี้ มีรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมอย่างไร และใช้ในวัตถุประสงค์อะไรบ้าง

 

มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

dhammakaya-temple-WiharnKunyay

การก่อสร้าง

มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (ตั้งชื่อตามผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มหาวิหารคุณยายอาจารย์ฯ เริ่มตอกเสาเข็มต้นแรก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2545 และยกยอดมหาวิหาร ในวันที่ 10 กันยายน 2546 เป็นวิหารทรงพีระมิดหกเหลี่ยม สีทองอร่าม ความสูง 29 เมตร ตั้งอยู่บนเกาะแก้วกลางน้ำรูปใบบัว ใกล้กับอุโบสถวัดพระธรรมกาย

การใช้งาน

ภายในมหาวิหาร เป็นห้องหยก ประดิษฐานมหารัตนอัฐิธาตุ และรูปหล่อทองคำ ของคุณยายอาจารย์ฯ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม สามารถรองรับคนได้ 300 คน

อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

dhammakaya-temple-100years

การก่อสร้าง

อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง หรือ อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์ฯ ได้รับการออกแบบให้ดูโดดเด่น สง่างาม จุดศูนย์กลางเป็นอาคารทรงกลม ซึ่งเป็นรูปทรงสากลที่ไร้กาลเวลา แนวคิดการออกแบบเน้นหลัก “ประหยัดสุด ประโยชน์สูง” และสะท้อนให้เห็นถึงความ “สะอาด สว่าง สงบ”

การใช้งาน

อาคาร 100 ปีคุณยายอาจารย์ฯ สร้างขึ้นเป็นมหานุสรณ์ แด่คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริหารงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ส่วนหนึ่งของอาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์ฯ จะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังใหม่ของวัดพระธรรมกาย มีระบบโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยครบครัน, เป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับนักวิชาการ เพื่อแปลและตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ และจัดทำเป็นพระไตรปิฎกฉบับอิเล็กทรอนิกส์ ที่ง่ายต่อการศึกษาเรียนรู้, เป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาบาลี และเป็นศูนย์กลางงานอบรมศีลธรรม

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย 

dhammakaya-temple-Wiharnlaungpu-1

การก่อสร้าง

มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ตอกเสาเข็มต้นแรก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2539 ก่อสร้างเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2546 เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำแท้ ขนาด 1 เท่าครึ่ง ขององค์จริงของพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 108 เมตร โดยตั้งใจให้มีความคงทนอย่างน้อย 1,000 ปี รูปทรงของวิหารต้องอยู่เหนือกาลเวลา ด้วยเหตุนี้การออกแบบจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ทรงกลม” ซึ่งเป็นรูปทรงของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวทั้งหลาย และยังเป็นรูปทรงของ “ดวงธรรม” ที่อยู่ ณ ศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคน นอกจากนี้ มหาวิหารแห่งนี้ ยังปูด้วยหินอ่อนทั้งภายใน และภายนอก

การใช้งาน

พื้นที่ภายในมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี แบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ใช้สำหรับเก็บบันทึกประวัติของพระมงคลเทพมุนี ตั้งแต่ปฐมวัยมัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย ส่วนที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำ และส่วนที่ 3 เก็บบันทึกประวัติคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง “ครูผู้สืบสายธรรม” และพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) “ผู้สืบทอดวิชชาธรรมกาย” และประวัติความเป็นมาของวัดพระธรรมกายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบัน นอกจากนี้ ภายในวิหารยังมีห้องปฏิบัติธรรมอีกด้วย

มหาธรรมกายเจดีย์

dhammakaya-temple-Mahadhammakaya-jedidhammakaya-temple-Maharatanaviharncod-1

การก่อสร้าง

มหาธรรมกายเจดีย์เจดีย์ แห่งพระรัตนตรัย ตอกเสาเข็มต้นแรกวันที่ 8 กันยายน 2538 หล่อองค์พระประจำตัวครั้งสุดท้ายวันที่ 22 เมษายน 2553 เป็นเจดีย์ทรงครึ่งวงกลมแบบเดียวกับมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และเป็นทรงเดียวกับสาญเจดีย์ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หลังพุทธกาล 200 กว่าปี รูปทรงของมหาธรรมกายเจดีย์จึงถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่เหนือกาลเวลา

มหาธรรมกายเจดีย์ ออกแบบด้วยหลักวิศวกรรม ให้คงอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี และใช้วัสดุพิเศษที่คงทนกว่า 1,000 ปี เส้นผ่าศูนย์กลาง 194.4 เมตร สูง 32.4 เมตร มหาธรรมกายเจดีย์ ประกอบด้วย 3 ส่วน สื่อถึง พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะพุทธรัตนะ

พุทธรัตนะ คือ บริเวณโดมครึ่งวงกลม และเชิงลาดรอบมหาธรรมกายเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระธรรมกายประจำตัว 300,000 องค์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมพุทธเจ้าหล่อด้วยเงินแท้น้ำหนัก 14 ตัน และพระธรรมกายประจำตัวอีก 700,000 องค์ ธรรมรัตนะ คือ บริเวณวงแหวนถัดจากพุทธรัตนะลงมา สังฆรัตนะ คือ วงแหวนส่วนล่างสุด ใช้เป็นที่นั่งของพระภิกษุ 10,000 รูป

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2547 มีการก่อสร้าง มหารัตนวิหารคด เป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น รอบลานธรรม เป็นสถาปัตยกรรมที่เน้นความเรียบง่าย

การใช้งาน

บริเวณรอบมหาธรรมกายเจดีย์มี “ลานธรรม” ใช้เป็นที่ประกอบศาสนพิธี ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนารองรับสาธุชนได้ 400,000 คน นอกจากนี้ในวันปกติ มหารัตนวิหารคดยังใช้ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม พื้นที่มหารัตนวิหารคดสามารถรองรับสาธุชนได้ 600,000 คน หากรวมกับพื้นที่ในลานธรรมก็จะสามารถรองรับได้ถึง 1,000,000 คน

แผนผังวัดพระธรรมกาย

dhammakaya-templeชมวิดีโอสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระธรรมกายเพิ่มเติม

Source: www.dmc.tv

Previous articleไม่ต้องกลัวร้อนอีกต่อไป! พบกับ นวัตกรรมบานเกล็ดบังแดดอัตโนมัติ ป้องกันแสงแดดได้ตลอดวัน
Next articleYohji Yamamoto ดีไซเนอร์ชื่อก้องโลก ขนชุดแฟชั่นพร้อม accessories สุดหรู
จัดเต็มใจกลางสยามดิส
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม