วิกฤติหนัก ตลาดที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ขายไม่ออกกว่า 8 แสนล้านบาท

410

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ เผยวิกฤติโควิดฉุด ที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 64 ขายไม่ออก 8 แสนล้านบาท จากปี 63 ขายไม่ออก 2 แสนล้านบาท

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของ โครงการที่อยู่อาศัย ที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล นับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย พบว่ามีที่อยู่อาศัยเสนอขายจำนวนรวม 210,748 หน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกปี 2563 โดยมีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 34,575 หน่วยในขณะที่จำนวนหน่วยเหลือขายรวม 176,173 หน่วย โดยในจำนวนหน่วยเหลือขายทั้งหมดเป็นหน่วยสร้างเสร็จเหลือขาย 51,675 หน่วย มูลค่ารวมกว่า 235,840 ล้านบาท และคาดการณ์ปี 2564 จะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมจำนวนประมาณ 174,773 หน่วย มีมูลค่าประมาณ 853,428 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อประเมินสถานการณ์โดยภาพรวม จากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลในปี 2564 ยังคงมีภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2563 มีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยส่งผลกระทบต่อตลาด ทำให้มีภาวะที่หดตัวต่อประมาณ 1- 4% โดยตลาดจะเริ่มฟื้นตัวครึ่งหลัง แต่ยังไม่ดีขึ้นมาก และสถานการณ์จะดีขึ้นในปี 2565 – 2567 ถ้า Supply ใหม่ปรับตัวลงและยอดขายค่อย ๆ ดีขึ้น

จากการสำรวจภาคสนามในช่วงครึ่งแรกปี 2563 พบว่า มีจำนวนโครงการที่ยังอยู่ระหว่างขายในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 1,728 โครงการ มีหน่วยเหลือขายจำนวน 173,093 หน่วย เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลัง ปี 2563 มีจำนวนความต้องการในการนำเสนอขายโครงการใหม่เข้ามาสู่ตลาดจำนวน 36,414 หน่วย ส่งผลให้มีที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายจำนวน 1,728 โครงการ รวมมีจำนวนหน่วยเสนอขาย 210,748 หน่วย และมีโครงการเหลือขายจำนวน 176,173 หน่วย มูลค่ารวม 909,228 ล้านบาท

ด้านของทำเลที่มีการเปิดตัวใหม่สะสมมากที่สุด จะกระจายไปในพื้นที่ชานเมืองและปริมณฑลเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ โดยแยกเป็นอาคารชุดจำนวน 17,883 หน่วย บ้านเดี่ยวประกอบด้วยอุปทานใหม่ จำนวน 4,991 หน่วย ทาวน์เฮ้าส์อุปทานใหม่ มีจำนวน 9,493 หน่วย บ้านจัดสรร ราคา >10 ล้านบาท มีอุปทานเพิ่มขึ้นทุกครึ่งปี ในขณะเดียวกันบ้านจัดสรร ราคา <=3 ล้านบาท. เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงแต่ไม่ค่อยมีสินค้า  และตลาดอาคารชุดยังต้องให้ความสำคัญกับการเร่งระบายหน่วยที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งหน่วยเหลือขายของคอนโดมิเนียมแทบไม่ลดลงเลยแม้ว่าหน่วยเข้าใหม่มีน้อย แต่หน่วยที่ขายได้มีจำนวนน้อยเช่นกัน ทำให้หน่วยเหลือขายไม่ลดลงเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ประกอบการจะมีการปรับตัวมาตลอด ทั้งในด้านของการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เลือกประเภทของโครงการและราคาที่ตรงกับกลุ่มผู้ซื้อ ปรับเปลี่ยนการตลาดไปเน้นการขาย โดยใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ยังจะเป็นปีที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ หากยังอยู่ในสถานการณ์ Covid-19 ที่ยืดเยื้อแบบนี้ต่อไป อาจจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในด้านการจับจ่ายใช้สอย ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ก็จะส่งผลถึงการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยได้

 

Previous articleสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เปิดประมูลสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์
ครั้งที่ 2/2564 จำนวน 69 อัตรา
Next article“ชุดครัวสเตนเลส” ไอเดียออกแบบครัวเปิดโล่ง
ที่ลงตัวกับบ้านทุกสไตล์
จิตรกมล ขวัญแก้ว
สาวขี้อาย จบการศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน ที่ชอบแสงแดดยามบ่าย ไอซ์ลาเต้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม