หลังเหตุการณ์สะพานกลับรถ ถนนพระราม 2 ถล่มเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย กระแสการถกเถียง(เพื่อแก้ไขปัญหา ป้องกัน และพัฒนาต่อ?)ก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ หนึ่งในคำถามที่สำคัญคือเราจะทำความเข้าใจเหตุการณ์นี้ด้วยมุมมองไหนดี สะพานกลับรถถล่มเกี่ยวกับเรื่องการเมืองไหม หรือเป็นแค่ประเด็นทางวิศวกรรม? BuilderNews รวบรวมความเห็นของหลายฝ่ายมาให้พิจารณากัน
สะพานกลับรถถล่มคือความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ!
แม้จะเห็นว่าการซ่อมแซมเป็นเรื่องระเบียบวิธีทางวิศวกรรมซึ่งสามารถควบคุมความปลอดภัยตามหลักได้ แต่ผู้รับผิดชอบการซ่อมแซมสะพานกลับรถบนถนนพระราม 2 แห่งนี้คือหน่วยงานรัฐอย่างกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธาน กมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร จึงจะมีการติดตามข้อมูลจากทางกมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร “เพื่อได้รับทราบข้อมูลอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อตกผลึกร่วมกันกับทางหน่วยงานว่า กมธ.จะมีข้อสังเกตเพื่อไม่ให้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งอุบัติเหตุเช่นนี้สามารถป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท”
สอดคล้องกับข้อสังเกตของนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขตบางขุนเทียน ที่ว่าอุบัติเหตุนี้ไม่ใช่ครั้งแรก จึงเป็นเรื่องของการรักษามาตรฐานความปลอดภัยที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมทั้งผู้ทำงานซ่อมทางเองด้วย
ด้านกรมทางหลวงเอง นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ก็รับว่าเป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) บริษัทเอกชนไม่มีความเกี่ยวข้อง เป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวงเท่านั้น โดยจะมีการตรวจสอบผลและลงโทษอย่างเด็ดขาดหากเป็นการบกพร่องที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ พร้อมยืนยันว่าจะมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยยืนยันว่ามีการควบคุมมาตรการรักษาความปลอดภัยแล้วในทุกงานก่อสร้างที่ผ่านมา
“อุบัติเหตุก็ไม่เชิง เป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิดมากกว่า”
สำหรับรองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นี่คือ “เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด”
“จะเรียกว่าความผิดพลาด หรืออุบัติเหตุ มันก็ไม่เชิง ผมขอเรียกว่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมากกว่า เพราะมีอยู่ 2 ช่วงที่เขาจะทำการซ่อมแซม ช่วงอีกฝั่งหนึ่งที่เขาใช้วิธีการเดียวกันมันทำเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ทำให้เบื้องต้นเขาอาจเข้าใจว่าตัวคานขอบน่าจะยังแข็งแรงดี จึงได้ใช้วิธีการแบบเดียวกันในการซ่อมแซม แต่ด้วยอาจจะเป็นเพราะความเสื่อมของเหล็กเสริม หรืออะไรที่อยู่ในคาน ขอบอาจจะมีปัญหา จนกระทั่งทำให้กำลังลดลง แต่น้ำหนักยังเท่าเดิม อีกทั้งในช่วงนั้นการที่มีฝนตกอาจทำให้คอนกรีตชุ่มน้ำฝนจนกระทั่งทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น รวมถึงการยังปล่อยให้มีรถวิ่งอยู่เบื้องล่าง การสั่นสะเทือนก็อาจจะมีส่วนที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเรื่องสลดนี้ขึ้นมา” เขาตอบกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
สำหรับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประเด็นที่น่าสังเกตเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยคือการเปิดให้ใช้งานถนนด้านล่างในขณะที่มีการซ่อมแซม จนทำให้เกิดเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิต นอกจากนี้การร่วงหล่นลงมาของเจ้าหน้าที่ยังชวนให้ตั้งคำถามว่าระหว่างการทำงานได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยมากพอหรือเปล่า “โครงสร้างในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการพังทลายได้นั้น เกิดขึ้นได้น้อยมาก” เขากล่าวกับไทยรัฐออนไลน์
Sources
- https://www.bangkokbiznews.com/politics/1018437
- https://www.bangkokbiznews.com/business/1018361
- https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2461707
- https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2461386
- https://www.thairath.co.th/news/politic/2461739
- https://www.facebook.com/departmentofhighway/posts/pfbid025yCFRc1YMS71XcrzHWpyFStxSg8brHaF2Sb3YiYaXdjAoqx7HvUhfoZTVGLB3UGal