เมื่อพูดถึงสถาปนิก เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพผู้ที่จรดปากกาออกแบบสถานที่ต่าง ๆ ทั้งอาคาร บ้าน การตกแต่งภายใน การออกแบบผังเมือง หรือแม้กระทั่งออกแบบภูมิทัศน์เองก็ดี ทว่าในวันนี้จะพาทุกคนไปสร้างการรับรู้ใหม่ว่า “สถาปนิก” ไม่ได้มีความสามารถแค่สร้างสิ่งที่ทุกคนเคยนึกถึงตามที่ได้กล่าวมาเท่านั้น เพราะพวกเขายังมีส่วนช่วยในการออกแบบ “ความสุข” ให้แก่ผู้อื่นได้เช่นกัน

ด้วยการเก็บตกประเด็นสัมภาษณ์จาก Special Live#4 ในหัวข้อ “Brighter Day: บ้านแสงจันท์ แสงสว่างในวันที่มืดมิด” กับ “คุณแพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย” ที่ได้ทำการเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาทางเพจเฟซบุ๊ก ACT Forum (สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่นี่ คลิก) อาจทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่า “สถาปนิกปันสุข” ได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น

บ้านแสงจันท์” สถาปัตยกรรมเพื่อต่อลมหายใจให้แก่ผู้ป่วย

“บ้านแสงจันท์” คือ อาคารพักพิงเพื่อผู้ป่วยมะเร็งและญาติผู้ยากไร้ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านที่พัก ในโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ซึ่งโปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากที่คุณแพทเคยไปช่วยงานที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า และพบกับ “คุณหมอภาสกร วันชัยจิระบุญ” ผู้ริเริ่มโครงการบ้านแสงจันท์ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากว่าเมื่อก่อนผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินทางไปรักษามะเร็งที่กรุงเทพฯ เพราะมีเครื่องมือครบครันกว่า

คุณหมอภาสกร วันชัยจิระบุญ

แต่พื้นที่จังหวัดจันทบุรีเหมาะสำหรับเป็นศูนย์กลางจากผู้คนหลากหลายภาค จึงสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งที่มีเครื่องมือครบครันขึ้นมา ส่งผลให้ผู้ป่วยเดินทางมารักษาที่นี่เป็นจำนวนมาก แต่เกิดปัญหาตรงที่ว่าตามการรักษาคอร์สปกติต้องใช้เวลา 5-7 วันในการรักษา ทว่าผู้ป่วยไม่สามารถนอนแอดมิทที่วอร์ดได้ จนหลาย ๆ เคสเดินทางไม่ไหว ขอไม่รักษาต่อก็มี

ผู้ป่วยและญาติต้องรับภาระทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก บางรายก็ต้องนอนตามพื้นโรงพยาบาล มีสุขอนามัยไม่ดี ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ จึงเกิดไอเดียเป็นโปรเจกต์ ระดมทุนภายในจังหวัดเพื่อสร้างที่พักฟรีให้ผู้ป่วยและญาติ เราจึงอาสาออกแบบให้ด้วยดีไซน์ง่าย ๆ เน้นฟังก์ชันการใช้งานและทุนให้คุ้มค่ามากที่สุด

เจาะลึก “บ้านแสงจันท์” ฟังก์ชันเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความใส่ใจทุกด้านของการออกแบบ

บ้านแสงจันท์จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาล แรกเริ่มเดิมทีจะออกแบบให้เป็นคอนเซปต์มาไว้ก่อนเพื่อให้เห็นภาพแล้วค่อยเริ่มทำโครงการ แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ป่วยเพื่อหาความต้องการจากผู้ใช้งานจริง ซึ่งตามจริงแล้วคุณหมอมีโครงการอยากทำแบบนี้อีกหลาย ๆ ที่ และอยากให้โครงการบ้านแสงจันท์เป็นตัวต้นแบบ (Prototype) ขึ้นมาก่อน ว่าเกิดขึ้นได้จริงไหม งบประมาณก่อสร้างที่ใช้เพียงพอหรือไม่ ถ้าทำได้ก็สามารถให้โรงพยาบาลอื่นที่ต้องการมารับแบบเป็นแพ็กเกจไปได้เลย หรืออาจมาดูงานก่อนก็ได้ สามารถเป็นที่ปรึกษาให้ได้เช่นกัน

บ้านแสงจันท์ถูกออกแบบให้มีห้องคล้ายกับโฮสเทล มีม่านกั้น โดยฟังก์ชันให้เป็นตึกที่ Self-operate คือ ผู้ป่วยและญาติต้องช่วยกันดูแลความสะอาดเอง เมื่อเข้าไปด้านในตึกจะมีจุดลงทะเบียนสำหรับจองห้องพัก ก่อนจะเข้าไปสู่จุดที่เป็นโรงทานกลาง และมีพื้นที่เป็นห้องครัวกลางสำหรับอุ่นอาหาร ล้างจาน ฯลฯ ทั้งนี้เน้นการออกแบบให้เหมาะกับพฤติกรรม ตามลักษณะการใช้งานของมนุษย์

เปิดให้ใช้บริการฟรี แต่มีเงื่อนไขคือต้องรักษาความสะอาดโดยใช้ชื่อผู้ป่วยเป็นการลงทะเบียนไว้และเชื่อมกับระบบประวัติของโรงพยาบาลเพื่อการใช้งานตามจริง จึงคาดหวังว่าผู้ที่เข้าใช้บริการจะดูแลความสะอาดพื้นที่ใช้งานอย่างดี เพราะมันส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วย อีกทั้งถ้ารักษาความสะอาดไม่ดีหรือสร้างความเสียหายก็จะขึ้นเป็นประวัติเสียต่อตัวผู้ป่วย ส่งผลให้ครั้งต่อไปอาจจะไม่ได้เข้าพัก นอกจากนี้คุณหมอภาสกรมองว่าการดูแลผู้ป่วยคือการดูแลแบบ Day Care แต่ Night Care คนที่ดูแลผู้ป่วยได้ดีที่สุดคือญาติ จึงต้องดูแลญาติผู้ป่วยดีไม่ต่างจากดูแลผู้ป่วย เราจึงใช้จุดนี้เป็นจุดหลักในการออกแบบบ้านแสงจันท์

ในตอนนี้โครงการอยู่ในกระบวนการของการถมที่ ปรับปรุงหน้าดิน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 9 เดือน ซึ่งน่าจะเริ่มก่อสร้างสิ้นปีนี้ และมีการวางแผนทำให้อาคารอยู่ได้ด้วยตัวเอง เช่น การเปิดพื้นที่ให้เช่าเพื่อนำเงินไปใช้สำหรับการดูแลรักษาอาคารต่อไป เป็นต้น

ในวันที่วิชาชีพสถาปัตย์กับนักร้องมาบรรจบกัน เกิดเป็นการส่งต่อ “ความสุข” แก่สังคม           

พอเราเริ่มมีชื่อเสียง รู้สึกว่าสามารถเป็นกระบอกเสียงและสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นได้อีกมากมาย จึงเลือกฝั่งที่เป็นนักร้องเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนฝั่งที่เป็นสถาปนิกก็จะไม่เอาตัวเองไปเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เน้นวางคอนเซปต์ ตีโจทย์ เติมไอเดีย อ่านผู้ใช้งานซะมากกว่า เราเน้นการออกแบบพื้นที่ที่ตอบสนองต่อ User Experience จากผู้ใช้งานจริง ให้ผู้ที่อาศัยอยู่มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและ Ownership ต่อพื้นที่นั้น ๆ เพราะเขาคือคนที่ต้องอยู่กับมัน ดังนั้นการออกแบบบ้านแสงจันท์จึงออกมาในรูปแบบที่ตอบสนองต่อการใช้งานของผู้ป่วยและญาติมากที่สุด

สิ่งที่ทำในฐานะ “สถาปนิก”: การ “ปันสุข” เพื่อให้ได้ “สุข” กลับมา

เวลาขัดแย้งกันกับทีมออกแบบ เรามองว่าเราขัดแย้งเพื่อสร้างอะไรให้ผู้อื่น ไม่ใช่ตัวเราเอง ก็จะมองย้อนกลับไปที่โจทย์ว่าผู้ป่วยต้องการอะไร นอกจากนี้โจทย์ของเรามันง่ายตรงที่จะทำยังไงก็ได้ให้ใช้พื้นที่คุ้มที่สุดในงบประมาณจำกัด อาจไม่ได้สวยมาก แต่ก็ยังเคารพการออกแบบอาคารของจันทบูร (ย่านเมืองเก่าของจังหวัดจันทบุรี) ก่อน และด้วยความที่รู้ชัดเจนว่าผู้ใช้งานเป็นใคร จึงออกแบบง่าย ใช้ความสามารถของเราที่มีตาของสถาปนิก สร้างฟังก์ชันตรงนั้นให้สวย

ความจริงถ้าเราเอาเวลาที่ต้องลงแรง 8 เดือนในการออกแบบบ้านแสงจันท์และร่วมหาเงินบริจาคไปพักผ่อนก็ทำได้ แต่เรากลับรู้สึกผิดมากกว่าที่บางทีอาจทำเพื่อพวกเขาได้ไม่เต็มที่เพราะเหนื่อยจากการทำงาน ยิ่งพอนึกภาพที่ผู้ป่วยนอนบนพื้นโรงพยาบาล ซึ่งถ้าเราสร้างบ้านแสงจันท์เสร็จ เขาก็จะไม่ต้องนอนตามพื้นโรงพยาบาลแล้ว ยิ่งทำให้เรามองว่า “เราเหนื่อย ไม่เท่าพวกเขาเหนื่อยหรอก ถ้าทำให้ชีวิตใครสบายขึ้นได้ก็ควรจะทำเพราะเราก็ไม่ได้ลำบากในการทำสิ่ง ๆ นั้นมากมาย คุณพ่อเองก็น่าจะดีใจถ้าอาคารนี้สำเร็จ” คุณแพทกล่าวทิ้งท้าย

“คุณค่าของคนเกิดจากการเป็นผู้ให้” เมื่อมองเกินตัวเองไป เป้าหมายก็กลายเป็นการได้เห็นผู้อื่นมีความสุข

ช่วงที่เราเหนื่อยจากการพยายามที่จะทำเรื่องของตัวเอง มันเป็นเพราะเราไม่ได้ถูกเติมเต็ม ในใจของเรามันไม่เต็ม เรารู้สึกว่าเราไม่มีค่า เหมือนพอทำแล้วมันไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ เราไม่มีเป้าหมาย คุณค่าในตัวเรามันตก แต่พอได้เห็นว่าสิ่งที่เราสร้างทำให้ผู้อื่นมีความสุข เรากลับรู้สึกมีคุณค่าขึ้นมาทันทีเลย รู้สึกว่าชีวิตมีความหมายขึ้นมา แม้ว่าการที่เราให้ออกไป จะไม่ได้กลับมาเป็นเงิน ความมีชื่อเสียง แต่มันกลับมาในแง่ของความสุข เขาขอบคุณเราจากใจ รู้สึกว่ามันเติมคุณค่า ทำให้เป้าหมายเราชัดเจนขึ้น การเสียพลังงานตรงนี้ไม่ใช่การเสียเลย แต่เป็นการได้รับเพิ่มกลับมาทำให้เรามีแรงไปทำงานต่อด้วยซ้ำ

ขอเชิญร่วมบริจาคและมีส่วนร่วมในโครงการ “บ้านแสงจันท์” เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยและญาติผู้ยากไร้

นอกจากเงินบริจาคแล้ว ผู้ใดที่มีทักษะหรือความรู้ก็สามารถเสนอตัวเพื่อช่วยเหลือด้านระบบได้ด้วย หรือถ้ามีผู้สนใจบริจาคเป็นวัสดุก่อสร้างก็ยินดี ไม่ว่าจะเป็น Supplier หรือผู้ประกอบการท่านใดสนใจก็สามารถบริจาคมาได้ บางทีมูลค่าหลังคาอาจเปลี่ยนมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีกมากมาย

  • บริจาคด้วยตนเองได้ที่ กลุ่มงานการเงิน อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ ชั้น 6 โรงพยาบาลพระปกเกล้า (ในเวลาราชการ)
  • โอนเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 980-6-52333-4 ชื่อบัญชี โรงพยาบาลพระปกเกล้า (เงินบริจาค)

*โดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หากท่านไม่ได้ใช้ e-donation และต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี กรุณาส่งหลักฐานโอนเงิน พร้อมชื่อที่อยู่ผู้รับทาง Line: https://lin.ee/5njlts1

รายละเอียดโครงการ

รายการวัสดุครุภัณฑ์

หากมองผิวเผิน อาชีพนักร้องกับสถาปนิกอาจดูเป็นสายอาชีพที่แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันได้เลย แต่ไม่ได้แปลว่าสองสิ่งนี้จะอยู่ในตัวตนคนหนึ่งคนไม่ได้ เพราะวันนี้ “คุณแพท-รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านักร้องและสถาปนิกสามารถสร้างสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันได้ นั่นคือการ “ปันสุข” ให้แก่คนที่ได้รับ ทั้งผู้ฟังและคนที่จะได้ใช้งานบ้านแสงจันท์จริง ๆ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ร่วมบริจาคเองก็อิ่มเอมใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันความสุขส่งต่อผู้อื่น

แล้วมาพบเซอร์ไพรส์จากคุณแพท และวง Klear ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17.00 เป็นต้นไป พร้อมร่วมบริจาคให้โครงการบ้านแสงจันท์ไปกับคุณแพทได้ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้แล้วที่ http://actforum.prereg.info/form.asp?lang=TH

Previous article“เกรท วอลล์ มอเตอร์” พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ หนุน S-Curve อุตสาหกรรมดาวเด่นสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
Next articleWITTAWII ท้าทายทุกการออกแบบและก่อสร้าง จากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ พร้อมบริการแบบ One Stop Customized Service
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว