ท่ามกลางกาลเวลาที่ยังคงเดินไปอย่างต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอันรวดเร็ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการออกแบบตึกออกแบบอาคารไปบ้าง

พอมาถึงในวันนี้ ใครจะคิดว่ากล่องเหล็กรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ไว้ใช้สำหรับบรรจุของเพื่อนำเข้า-ส่งออกทางเรือ จะกลายมาเป็นวัสดุอีกชิ้นหนึ่งที่นักออกแบบมักหยิบจับของสิ่งนี้เข้ามาอยู่ในงานสถาปัตยกรรมของพวกเขาด้วย

แม้การนำตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบต่าง ๆ จะไม่ใช่สิ่งที่ดูสดใหม่มากนัก แต่การที่เหล่านักออกแบบได้นำไอเดียมาต่อยอดเป็นงานออกแบบที่พรั่งพร้อมไปด้วยความครีเอทและความเหมาะสมในการใช้งาน มันจะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ถูกพูดถึงและน่าจดจำอย่างยิ่ง เหมือนอย่าง 3 สถาปัตยกรรมจากตู้คอนเทนเนอร์ ที่เรายกมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้รู้จัก

Joshua Tree Residence ออกแบบโดย Whitaker studio

บ้าน Joshua Tree Residence แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 90 เอเคอร์ หรือราว ๆ 227 ไร่ ท่ามกลางภูเขาแคลิฟอร์เนียอันกว้างใหญ่ มองไกล ๆ เรียกได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาได้แปลกสุด ๆ กับการนำตู้คอนเทนเนอร์หลาย ๆ ตู้มารวมกันเป็นดาวกระจายแยกเป็นแฉก ๆ  หรือถ้าจะมองอีกมุมก็เหมือนต้นไม้ที่แผ่ขยายกิ่งก้านสาขา

พื้นที่ภายในกว้างกว่า 200 ตารางเมตร โดยตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้จะถูกจัดวางตามห้องแต่ละห้อง มีทั้งห้องนอนพร้อมห้องน้ำในตัว 3 ห้อง ห้องนั่งเล่นที่กว้างขวาง ซึ่งจะมีความแตกต่างและมีการแบ่งห้องแต่ละห้องอย่างชัดเจน เรียกได้ว่ามีความส่วนตัวสูงมาก ๆ นอกจากนี้ยังเพิ่มความพิเศษในแต่ละห้องด้วยฟังก์ชันหน้าต่างเต็มตัว ที่นอกจากจะสามารถชมวิวภายนอกได้แล้ว ยังเพิ่มความสว่างให้กับห้องโดยไม่ต้องเปิดไฟภายในบ้านอีกด้วย

Cantilevered Pavilion ออกแบบโดย People’s Architecture Office (PAO)

ถัดมาเป็นพาวิลเลียน Cantilevered Pavilion ตั้งอยู่ที่มณฑลชานซี ทางตอนเหนือของประเทศจีน ตัวโครงสร้างหลักเป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาเรียงซ้อน ๆ กัน ซึ่งเขาบอกมาว่ามันสามารถถอดประกอบและเคลื่อนย้ายได้ง่าย โดยชั้นแรกของพาวิลเลียนจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์สีแดงซ้อนกัน 6 ตู้ และชั้นบนเป็นตู้คอนเทนเนอร์สีเหลืองซ้อนกันอีก 6 ตู้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของชั้นดาดฟ้า ซึ่งจะแบ่งเป็นชั้นดาดฟ้าข้างบนตู้คอนเทนเนอร์สีแดง และชั้นดาดฟ้าของตู้คอนเทนเนอร์สีเหลือง ไว้เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมสันทนาการแบบกลางแจ้ง ด้วยการวางโครงสร้างของตู้คอนเทนเนอร์แบบซ้อนไปซ้อนมาเช่นนี้ช่วยเพิ่มมุมมองการมองเห็นวิวบนชั้นดาดฟ้าได้หลากหลายมากขึ้น

Etania Green School ออกแบบโดย Architecture BRIO และ BillionBricks

ศูนย์การเรียนรู้ Etania Green School ตั้งอยู่ในรัฐซาบาห์ หนึ่งในหมู่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ด้วยพื้นที่ตั้งแห่งนี้เคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้นผู้ออกแบบจึงออกแบบศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นไปในลักษณะครึ่งไม้ครึ่งตู้คอนเทนเนอร์ โดยให้ตัวตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 5 ตู้อยู่ด้านล่าง เพื่อให้อาคารทั้งหลังไม่เกิดความเสียหาย หากเกิดเหตุน้ำท่วม

ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงแต่เป็นฐานของอาคารเท่านั้น แต่ยังทำเป็นห้องเก็บของและห้องน้ำอีกด้วย ส่วนพื้นที่ด้านบนนั้น ตัวพื้นอาคารทำจากไม้รีไซเคิล และหลังคาด้านบนติดตั้งแผงโซลาร์เซล์ไว้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคารรวม รวมถึงมีการสร้างระบบรางบนหลังคาไว้สำหรับกักเก็บน้ำฝน ด้วยดีไซน์ที่เน้นการนำวัสดุที่ทิ้งแล้วนำกลับมาใช้ใหม่มาประกอบเป็นอาคาร จึงทำให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้ ได้รับรางวัล Trends Excellence Awards for Architecture & Design สาขา Sustainable Award จากนิตยสารมุมไบ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไอเดียการนำตู้คอนเทนเนอร์มาสร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมเพียงบางส่วนเท่านั้น หลายคนอาจจะมองตู้คอนเทนเนอร์เป็นเพียงกล่องสี่เหลี่ยมที่ใช้บรรจุของเพื่อการขนส่งทางเรือเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงมันกลับกลายเป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดงานออกแบบสถาปัตยกรรมได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าที่คิด

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

  1. https://www.designboom.com/architecture/container-atlas-shipping-container-architecture-02-15-2020/
  2. https://www.designboom.com/architecture/peoples-architecture-office-container-stack-pavilion-dongshan-shanxi-china-06-27-2016/
  3. https://www.designboom.com/architecture/whitaker-studio-joshua-tree-residence-california-09-28-2017/
  4. https://www.designboom.com/architecture/brio-billionbricks-etania-green-school-sabah-malaysia-12-12-2018/
Previous articleCabin Clean & Service บริการรับฉีดพ่นฆ่าเชื้อ
Next articleดีวันซิสเต็ม เปิดม่านโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “GREY TO GREEN 2020”
เปลี่ยนคอนกรีตเป็นพื้นที่สีเขียว