การออกแบบบ้านไม่ใช่แค่การดูตำแหน่งทิศทางของแสงและช่องอากาศเท่านั้น แต่ส่วนประกอบสำคัญอย่างสิ่งประดิษฐ์ให้แสงยามค่ำคืนที่แม้เราจะปิดเมื่อไม่ต้องการ ก็ยังเห็นตลอดเวลาอย่างหลอดไฟนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ส่วนประกอบอื่น ๆ ของบ้าน ลองนึกถึงภาพบ้านสักหลังที่ได้รับการดีไซน์มาเป็นมอย่างดีแต่มาตกม้าตายเพราะโคมไฟ หรือหลอดไฟที่วางผิดที่ผิดทาง ไม่ได้เข้ากันเลย ดูแล้วมันไม่ส่งเสริมตัวบ้านเลยสักนิดเลย ว่าไหม?

วันนี้ BuilderNews จึงนำดีไซน์ออกแบบโคมไฟจากต่างแดนที่กำลังอยู่ในเทรนด์การออกแบบไฟมาให้ดูกัน  หลายงานสวย เนี้ยบตั้งแต่รูปทรง แต่อีกหลายงานเราเชื่อว่าใครที่อยู่สายอีเวนต์จะได้แรงบันดาลใจไปตกแต่งกันมากขึ้น เพราะบางสเกลดูแล้วเหมาะกับสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และมีหวือหวาอย่างห้างสรรพสินค้าหรือพิพิธภัณฑ์มาก

Chain Reaction

ผลงานหลอดไฟกลม 144 ดวง ของ Studio Stallinga ในพิพิธภัณฑ์ Stedelijk พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ศิลปะร่วมสมัยและการออกแบบที่ตั้งอยู่ในอัมสเตอร์ดัมประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จัดวางเรียงต่อกันเป็นห่วงโซ่ โดยแต่ละดวงจะเรืองแสงสว่างไม่เท่ากัน เริ่มต้นจากความเข้มแสงเรืองอ่อน ๆ ไปถึงแสงจ้า สร้างมิติเคลื่อนไหวจากกลไกเลื่อนขึ้นลงและความเข้มอ่อนของแสงที่ปรากฏต่อสายตา ทำให้งานออกมาเป็นผลงานศิลปะน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้พบเห็น

ไม่เพียงความสวยงามที่ทำให้ไฟลุกขึ้นมาร่ายระบำต่อสายตาเราอย่างในคลิปตัวอย่างเท่านั้น แต่แนวคิดการออกแบบของดีไซเนอร์ที่วางตำแหน่งความลาดชัน 23.4 องศาของแต่ละห่วง ยังลึกซึ่ง เพราะนำมาจากองศาเดียวกันกับโลกที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ซึ่งองศานี้นำฤดูกาลที่แตกต่างกันมาสู่โลกอีกด้วย

Corner Bright Light

หลอดไฟโมเดิร์นนี้ มองครั้งแรกอาจจะทำให้คิดว่ามันเป็นไฟที่ฝังอยู่กับผนังแต่ความจริงแล้วเป็นโคมไฟตั้งพื้นที่ออกแบบมาโดย Scott Klinker Design ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากอะลูมิเนียมและเหล็กเคลือบสีขนาดสูง 72 นิ้ว

ด้วยความที่เป็นโคมไฟตั้งมุมพร้อมลากอิสระทำให้สามารถควบคุมความสว่างได้จากระยะห่างระหว่างตำแหน่งตั้งกับผนัง เพราะเป็นการเล่นแสงที่สะท้อนออกมาจากหลอดเส้นบาง ขณะเดียวกันขนาดที่ค่อนข้างเรียวเล็กสามารถถอดประกอบได้ก็เหมาะกับการติดตั้งโยกย้าย ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่

Meshmatics Chandelier

โคม Chandelier เหล็กดัดทำมือซ้อน 3 ชั้นที่ดูละเอียดประณีต กระจายแสงผ่านเหล็กดัดโปร่ง ขนาดเบา ที่ขัดแย้งกับภาพของขนาดที่ใหญ่ภายนอก ขับบรรยากาศหรูหรา คลาสสิคตกแต่งพื้นที่บ้านชิ้นนี้ สมเป็นผลงานของ Rick Tegelaar นักออกแบบที่ทุ่มเทสร้างผลงานเกี่ยวกับออกแบบแสงมายาวนานต่อเนื่องหลายปี

เขาพัฒนาผลงานโดยอาศัยความคุ้นเคยกับวัสดุประเภทลวดที่เขาเรียนมาขณะกำลังเรียนออกแบบที่ University of the Arts ใน Arnhem เป็นรากฐานพัฒนางานมาสู่ Chandelier ชิ้นนี้ ประกอบกับความพยายามผสมผสานความรู้ระหว่างทักษะทางวิศวกรรมกับหัตถกรรมทำให้งานออกมาเป็นเอกลักษณ์และน่าสนใจประดับเห็นไกล ๆ หรือส่องระยะใกล้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง

Grappolo (Grape) wall lights

จากโคมไฟแขวน โคมไฟตั้งพื้น ลองมาดูต่อที่โคมไฟผนังกันบ้าง ผลงานชิ้นนี้ออกแบบโดย Dr. Light ดึงรูปทรงของผลไม้อย่างพวงองุ่นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ สังเกตได้จากหลอดไฟทรงกลมหลายดวงนำมาประกอบต่อกับกิ่งก้านที่แตกแขนงออกมาเพื่อกระจายความสว่างและเสริมบรรยากาศอบอุ่นนี้ จากนั้นตั้งชื่อว่า Grappolo

ใครที่ชอบการดูไฟสำหรับตกแต่ง จริง ๆ เราแนะนำว่าเข้าไปหากเข้าติดตามผลงานของเขาผ่านทางเว็บไซต์นี้ https://www.dr-light.com/kataloglar.asp จะเห็นชัดเลยว่ามีโคมไฟหลายดีไซน์ หลายประเภทน่าดึงดูด ทั้งรูปแบบตัวหลอดและตัวดีไซน์ครอบ เหมาะเจาะลงตัว

BALANCE TABLE LAMP

ผลงานของดีไซเนอร์หนุ่มชื่อ Victor Castanera ชิ้นนี้เรียกได้ว่าไม่เหมือนใคร เพราะเป็นโคมไฟที่แหวกรูปแบบเดิม ๆ จากการจัดสมดุลโคมที่ทำให้เราคิดถึงความเคลื่อนไหวผ่านการต่อลำดับชั้นเล่นถึงสองชั้นเพื่อกระตุ้นความรู้สึกให้คนมองไม่ละสายตาด้วยการจัดองศาของโคมทรงกลมหลายขนาดเล็กใหญ่ มีแผ่นสี่เหลี่ยมคั่นเป็นชั้นตรงกลาง โชว์ระนาบที่ไม่ใช่เส้นตรง

แม้เราจะพยายามสังเกตว่า การเดินสายไฟต่อชั้นแต่ละชั้นเชื่อมถึงกันได้อย่างไร เพราะความบางของแผ่นสี่เหลี่ยมมันชวนให้คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จำซ่อนสายไฟได้ แต่ด้วยวิวัฒนาการหลายอย่างในวันนี้ วงการแสงมันสร้างปรากฏการณ์ใหม่เหนือความคาดคิดสู่สายตาเราเสมอ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่เราคัดสรรมาแบ่งปันให้ชาว BuilderNews ได้เห็นผ่านสายตาไปพร้อมกันว่าไฟและวัสดุสำหรับตกแต่งแสงทั้งหลายมีมากกว่าที่เราคิด ถึงที่อยู่อาศัยปกติของพวกเราส่วนใหญ่จะเน้นวางรางติดหลอดไฟยาวประหยัดไฟเป็นหลักก็ตาม

ครั้งหน้าลองไปสังเกตหลอดไฟตามสถานที่ต่าง ๆ ดู โดยเฉพาะกับที่ที่เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบเยอะเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือเน้นความสวยงามเป็นจุดขายอย่างโฮสเทล โรงแรม พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ เราจะได้เห็นว่ามันมีผลกับความรู้สึกของเขาขนาดไหน และที่สำคัญพลาดไม่ได้กับแสงที่เรืองออกมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นแสงส้มหรือแสงขาว เพราะสิ่งเหล่านั้นได้รับการออกแบบอย่างมีวัตถุประสงค์ ปรับความรู้สึกเมื่อเราพักเอนกายหรือใช้บริการในที่นั้นโดยไม่รู้ตัวจริง ๆ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://idesignawards.com/winners/zoom.php?eid=9-16602-18&count=4&mode=

https://www.dezeen.com/2018/07/11/rick-tegelaar-meshmatics-chandelier-moooi-design-dreams-movie/

https://stallinga.nl/chain-reaction-at-stedelijk-museum-amsterdam-2016?p=4

http://www.scottklinker.com/vii

Previous articleKisho Kurokawa สถาปนิกเจ้าของ Nakagin Capsule Tower แลนด์มาร์กญี่ปุ่นสุดพิสดาร สร้างแกนอาคาร ถอด-ใส่ ห้องได้ตามใจ
Next articleNotre Dame Cathedral มหาวิหารโกธิคอายุ 800 กว่าปีที่โดนไฟไหม้ ความสูญเสียครั้งสำคัญของโลก