ความสุขอยู่ที่การออกแบบ ความสุขอยู่ที่รายละเอียดภายใน คืออีกข้อเท็จจริงที่เราเชื่อได้โดยสนิทใจ เพราะเรามักจะได้ยินบางประโยคอย่างคำว่า “บ้านหลังนี้น่าอยู่” หรือ บ้านหลังนี้ไม่น่าอยู่เอาเสียเลยเสมอ ๆ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มนุษย์เราจะให้ความสำคัญกับการตกแต่งที่อยู่อาศัย ยอมทุ่มเงินโดยไม่คิดว่าเป็นสิ่งสิ้นเปลือง และมอง บ้านว่ามีความหมายมากกว่าสถานที่พักอาศัย เพื่อหลบแดดหลบฝนไปวัน ๆ

เพื่ออธิบายความสุขและความสบายของพื้นที่ที่หลายคนรู้สึกว่าเป็นนามธรรม บริษัทยักษ์ชั้นนำด้าน IT ที่เราคุ้นเคยอย่าง Google จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการจัดงานศิลปะจัดวาง หรือที่เราเรียกกันว่า Installation ที่ Spazio Maiocchi ในมิลานเพื่อให้คนได้ทดลองหาสไตล์การแต่งบ้านที่ใช่ของตัวเอง ทำให้คนได้รู้ว่าแท้จริงแล้วการตกแต่งภายในแบบไหนคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายมากที่สุด

ผลงานครั้งนี้ของ Google ได้ Ivy Ross รองประธานฝ่ายการออกแบบของ Google สร้างสรรค์งานร่วมกับ  International Arts + Mind Lab ที่ John Hopkins University และ Suchi Reddy จาก Reddymade ติดตั้งห้องที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์หลายห้องสำหรับเยี่ยมชม โดยภายในจัดวางผลิตภัณฑ์จาก Danish modern design ไว้อย่างสวยงาม

ดักจับสไตล์ที่ใช่ด้วยดิจิทัล

เมื่อความสุดขั้วด้านเทคโนโลยีโน้มมาเจอกับเรื่องความสุข ความพอใจจากการตกแต่ง นิทรรศการจึงแตกต่างจากงานทั่วไป แขกที่มาเข้าร่วมงานทุกคนจะได้รับการแจกสายรัดข้อมือพิเศษจาก Google Hardware นำมาสวมเพื่อติดตามการตอบสนองต่อปฏิกิริยาทางร่างกายและสรีระวิทยา เช่น อัตราการเต้นของหัวใจและการนำไฟฟ้าผ่านผิวหนัง

จากนั้น ผู้เข้าชมงานทั้งหมดจะได้เข้าไปใช้งานพื้นที่ห้องนั่งเล่นที่ออกแบบไว้ต่างกันราว 5 นาที ทั้ง 3 ห้อง ได้แก่  ‘Essential’ ‘Vital’ และ ‘Transformative.’ เพื่อวิเคราะห์ความพอใจ สำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสไปดูที่มิลาน ลองมา Recap ทั้งวิธีการและวัดความรู้สึกจากภาพที่เห็นตรงหน้าไปพร้อมเราก่อนได้เลย

Essential ห้องแรกที่ออกแบบโดยศิลปินทัศนศิลป์ชาวดัตช์ คุมสีเอิร์ธโทนเรียกความสงบพร้อมการจัดแสงนวล ๆ ตา ไม่แสบจ้า ที่สำคัญยังการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มาส่วนเว้าโค้งนำมาเล่นกับผ้าขนสัตว์สร้างความอบอุ่น ที่ชวนให้อยากทิ้งตัวไว้นาน ๆ

ถัดมาที่ห้องที่สอง ‘Vital’ ออกแบบโดย Sabine Marcelis ห้องนี้ใช้สีสันสว่างไสว แพรวพราว ไล่ระดับอย่างกลมกลืนแนว gradient ผสมผสานระหว่างเทาอมฟ้าอมส้มที่ผนังเหมือนแสงเส้นขอบฟ้า ภายในจัดวางเฟอร์นิเจอร์สีสันสดใสโทนป๊อปหลายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้สีเหลือง เก้าอี้เขียวหรือชมพู ตกแต่งพาดด้วยไฟนีออน

ภาพรวมของห้องนี้ถ้าถอยห่างออกมาแล้วมองภายนอกจะรู้สึกถึงความหวือหวาของดีไซน์ที่เพิ่มขึ้น เพราะดูคล้ายกับการนำจักรวาลมาวางไว้ในห้อง เราจะสามารถมองเห็นดาวเคราะห์ต่าง ๆ แทนที่ด้วยจุดกลมจากตะขอแขวนหลากสีที่ติดเรียงไล่ระดับบนผนัง ประจวบเหมาะกับแสงนีออนขาวที่ลากวาบแนวเฉียงพาดผ่านผนังจรดเพดานยิ่งสร้างเสน่ห์ได้เป็นพิเศษ

จบกันที่ห้องสุดท้าย “Transformative” ห้องนี้ลดความ cozy ความ colorful แล้วหันมาใช้สีโทน monochrome หรือขาวดำดึงความหรูหราแต่คงความมินิมัล ห้องที่จัดแสดงนี้ใช้วัสดุเพิ่มความรู้สึกสง่างามจากไม้ แก้ว และเหล็ก ส่วนผนังก็ใช้กระดาษเลียนแบบหินอ่อนที่ผลิตขึ้นจาก Paper Factor เนื้อสัมผัสมันจึงเป็นแบบลูกฟูก หรือคลื่นที่ไม่เรียบแบบกระดาษทั่วไป

เมื่อผ่านทั้ง 3 ห้องมาได้ก็สิ้นสุดกระบวนการวิเคราะห์ ถ้ายังจำสายรัดข้อมือที่เราบอกได้ มันจะกลับมามีบทบาทที่ห้องนี้อีกครั้ง เพราะปลายทางของการเยี่ยมชม ผู้เข้าชมงานทุกคนจะได้รับการรายงานส่วนบุคคลในรูปแบบของวงกลมสีน้ำ ผลจากการประมวลความรู้สึกจะโชว์ให้เห็นสีสันและความหมายที่เกิดขึ้นของวงกลมสี โดยเขากำหนดให้สีฟ้าเป็นสีแห่งความสงบ ขณะที่สีชมพูเป็นสีที่เกิดขึ้นเมื่อความรู้สึกของผู้เยี่ยมชมได้รับการกระตุ้น

รูปแบบการจัดแสดงงานศิลปะที่ประมวลผลความพอใจผ่านดิจิทัลครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะไม่เพียงเราจะยังไม่เคยเห็นมันจากที่ไหนมาก่อนแล้ว สิ่งที่มันทำได้ยังเรียกได้ว่าพลิกวงการการออกแบบทั่วโลกเลยทีเดียว เพราะนวัตกรรมชิ้นนี้ที่ Google ใช้ นำคอนเซ็ปต์ติดตามคุณค่าการออกแบบอสังหาริมทรัพย์ผ่านสัญญาณชีพและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สามารถใช้สื่อสารความต้องการได้ตรงไปตรงมากว่า เพราะส่วนใหญ่ตามนิสัยคนไทยจะบอกว่าไม่เป็นไรเมื่อได้ของไม่ตรงปกด้วยความเกรงใจ การมีเครื่องนี้ไว้ใช้จึงน่าจะทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น

ด้านความ custom วัดผลเฉพาะบุคคล เรื่องนี้เราก็มองว่าสามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งฝั่งผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์และผู้ผลิตอย่างวิน ๆ ทั้ง 2 ฝ่าย เช่น คนที่อยากซื้ออาคารเพื่ออาศัย ถ้าได้นวัตกรรมนี้ไปช่วยประเมินหลังจากชมห้องตัวอย่าง น่าจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ส่วนฟากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายก็เช่นกัน หากเก็บข้อมูลที่ได้รับจากกลุ่มตัวอย่างที่สวมใส่สายรัดข้อมือนี้ น่าจะสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงแนวทางการออกแบบให้ดีกว่าเดิม

ไม่ต้องรออนาคตข้างหน้า เชื่อว่าชาวสถาปนิกพอได้เห็นรูปแบบการวัดผลความพึงพอใจการออกแบบแนวใหม่จาก Google แล้วคงต้องเตรียมพร้อมเพื่อความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอีกเยอะใน พ.ศ. นี้ เจอ smart home, smart wristband หนนี้เราต้องปรับตัวให้มี smart idea เพื่อเอาชนะกันอีกเยอะ

อ้างอิงข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://design-milk.com/googles-installation-helps-you-find-out-which-spaces-make-you-feel-better-than-others/

 

Previous articleเปิดตัว Ecocapsule บ้านที่มีความยั่งยืนในตัวเอง ครั้งแรกในอเมริกา
Next articleบ้านสุดยูนีคจาก ATLANTA ที่สวย เสร็จ แต่ไม่มีใครอยู่