เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ เป็นพลังงานสะอาด สามารถนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด รวมทั้งยังเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพสูง และมีต้นทุนการผลิตต่ำลงเรื่อย ๆ จึงเป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความเข้มของแสงแดดที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากต้องการผลิตไฟฟ้าให้ได้ปริมาณมาก ๆ จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก และต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อคัดสรรเทคโนโลยี รวมถึงบริหารจัดการโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลสูงสุด

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของ บริษัท โซลาร์โก จำกัด เกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ปกับบริษัท ยันฮี โซลาร์ เพาเวอร์ จำกัด ในเครือโรงพยาบาลยันฮี ในสัดส่วนร้อยละ 49:51 ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด 6 โครงการ ตั้งอยู่ใน อ.บางเลน จ.นครปฐม และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ทุกโครงการล้วนใช้แผงโซลาร์เซลล์แบบผลึกรวม (Polycrystalline) และติดตั้งแผงแบบอยู่กับที่ (Fixed System) ทำมุมกับแนวระนาบ 12 องศา จุดเด่นของโครงการ คือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทยที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากถึง 57 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของประชาชนถึง 45,000 ครัวเรือน และทุกโครงการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

เนื่องจากเป็นโครงการที่ใหญ่มาก จึงเกิดแนวความคิดที่จะสร้างอาคารสังเกตการณ์นี้ขึ้นมา เพื่อความสะดวกรวดเร็วในรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องการให้อาคารนี้มีความยืดหยุ่นในแง่ประโยชน์ใช้สอย โดยภายในอาคารประกอบด้วยห้องสังเกตการณ์ที่จะแสดงข้อมูลของทั้ง 6 โครงการ ส่วนสำนักงาน ห้องประชุม ส่วนพื้นที่อเนกประสงค์ ส่วนนิทรรศการ และจุดชมวิวสำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมโครงการอีกด้วย

in-0006
การออกแบบที่เน้นความโปร่งสบาย
Double Terrace เพื่อลดทอนความร้อนจากแสงอาทิตย์
Double Terrace เพื่อลดทอนความร้อนจากแสงอาทิตย์

โครงการนี้ออกแบบโดย UNITECT CO.,LTD. ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายใน รวมถึงบริหารโครงการก่อสร้าง ซึ่งผลงานทั้งหมดนั้นจะเน้นไปในเรื่องของการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ากับบริบท และที่สำคัญคือเป้าหมายที่เน้นในเรื่องการออกแบบเพื่อให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน

เนื่องจากเป็นอาคารสังเกตการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์หลักคือ การทำให้ตัวอาคารใช้พลังงานให้น้อยที่สุดและใช้เท่าที่จำเป็นเริ่มตั้งแต่การเลือกตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม และที่สำคัญคือทิศทางการวางตัวอาคารให้สอดคล้องกับทิศทางของแดด ลม ฝน โดยคำนึงถึงแสงและเงาที่จะเกิดขึ้นภายในตัวอาคาร โดยการออกแบบจะจัดให้ห้องต่าง ๆ แยกออกจากกันและเชื่อมกันด้วยพื้นที่อเนกประสงค์ตรงกลาง ซึ่งส่งผลให้ห้องแต่ละห้องได้รับแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าแสงสว่างได้ นอกจากนี้พื้นที่โล่งตรงกลางก็ยังสามารถใช้เป็นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม ใช้นั่งทำงาน หรือเป็นพื้นที่พักผ่อน ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันโดยที่ไม่มีแสงแดดส่องเข้ามาโดยตรง

การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติตกแต่งอาคารเพื่อให้มีความกลมกลืนกับบริบท
การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติตกแต่งอาคารเพื่อให้มีความกลมกลืนกับบริบท

นอกเหนือจากการจัดวางผังให้แต่ละห้องแยกออกจากกันแล้วนั้น เพื่อการระบายอากาศที่ดีจึงยกใต้ถุนสูง และยกหลังคาของส่วนกลางให้สูงขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้แสงเงาที่เกิดขึ้นกับตัวอาคารนั้นสวยงามไปอีกแบบ ในส่วนของดาดฟ้าได้มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เอาไว้เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในตัวอาคาร และยังเปิดเป็นส่วนนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมอีกด้วย

รูปลักษณ์ของอาคารมีการออกแบบรูปทรงให้ดูโมเดิร์นทันสมัยแต่ยังมีกลิ่นอายของความเป็นธรรมชาติด้วยการเลือกใช้วัสดุ ประเภท เหล็ก ไม้ และ หิน โดยมีการจัดวางองค์ประกอบที่ลงตัวและมีการเปลือยผิววัสดุเน้นให้เห็นถึงความงามตามธรรมชาติและสัจจะของวัสดุโดยแท้จริง

ex-0012 (2)

1in-0001

ข้อมูลโครงการ
ชื่อโครงการ: อาคารสังเกตการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ที่ตั้ง: อ.บางเลน จ.นครปฐม
เจ้าของโครงการ: Solarco Co.,Ltd. (บริษัท โซลาร์ โก จำกัด)
พื้นที่ใช้สอย: 400 Sq.m.
ปีที่เริ่มออกแบบ: 2556
ปีที่ก่อสร้างเสร็จ: 2557
ทีมงานผู้ออกแบบ: UNITECT CO.,LTD.
สถาปนิกผู้ออกแบบ: นายชัยวัสส์ วิวัฒนศร
วิศวกรโครงสร้าง: บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด
วิศวกรงานระบบ: บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด
สถาปนิกตกแต่งภายใน: นายภูมิ ภาณุสิทธิกร
ผู้ออกแบบภูมิสถาปัตย์: นายภูมิ ภาณุสิทธิกร
ผู้ออกแบบงานไฟฟ้าแสงสว่าง: น.ส.สุภศี ภานุสถิตย์
ผู้บริหารงานโครงการ: Esco co.,Ltd.
ผู้รับเหมา: บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด
แหล่งรูปภาพ: http://unitect.co.th โดยช่างภาพ นายนนท์ปวิธ พรสิบ

Previous articleการประเมินค่าทรัพย์สินมืออาชีพ รุ่นที่ 25
Next articleAn idea for a new green นวัตกรรมสุดกรีน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
Builder
กองบรรณาธิการนิตยสาร Builder - เดิมเคยเป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ภายใต้ชื่อ Builder News เผยแพร่เนื้อหาข่าวสารเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้างมากว่า 10 ปี ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นนิตยสารรายเดือนในชื่อว่า Builder เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน มุ่งนำเสนอเรื่องราวในวงการก่อสร้าง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบตกแต่ง ตลอดจนความรู้เรื่องวัสดุอย่างครบวงจร