ถ้าอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นช่วงก่อนหน้านี้สัก 10-20 ปี หลายคนจะเคยเห็น Sento หรือโรงอาบน้ำสาธารณะเป็นหนึ่งในซีนที่มีแทบทุกเรื่อง เพราะยุคหนึ่ง Sento เป็นธุรกิจที่เติบโตมากเนื่องจากแต่ก่อนทุกครอบครัวไม่มีห้องอาบน้ำในตัว จนกระทั่งวันนี้ 95% ของทุกครอบครัวมีห้องน้ำส่วนตัวเป็นของตัวเองแล้ว ภาพของ Sento จึงค่อย ๆ หายไป ทั้งจากในการ์ตูนและชีวิตจริง
เมื่อความสำคัญลดลง ปัจจุบันลูกค้าโรงอาบน้ำแบบนี้จึงเหลือแค่คนที่บ้านไม่มีห้องน้ำในตัว หรือวิ่งออกกำลังกายผ่านมาแล้วอยากมาอาบน้ำเท่านั้น ถ้าอยากทำให้ธุรกิจไปต่อได้ โรงอาบน้ำก็ต้องปรับตัวและสร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา
Kagoneyu เป็นเซนโตท้องถิ่นแห่งหนึ่งในโตเกียวที่เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงกลับมารีโนเวตเพื่อชุบชีวิตขึ้นอีกครั้งโดยสตูดิโอสถาปนิก Schemata Architects ซึ่งเข้ามาออกแบบใหม่ ตีโจทย์ด้วยการคงความดั้งเดิม เติมความน่าสนใจ และเพิ่มจุดขายเรื่องไลฟ์สไตล์ให้ตอบโจทย์คนยุคนี้
เริ่มตั้งแต่รูปแบบการตกแต่ง แม้ดูเผิน ๆ แล้วกลิ่นอายโรงอาบน้ำแบบเดิมจะยังอยู่ มองเห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นโรงอาบน้ำ แต่การตกแต่งจะดูฮิปกว่าเดิม ทันสมัยขึ้นเพราะเลือกออกแบบในสไตล์ลอฟต์อินดัสเทรียล ซึ่งให้กลิ่นอายความดิบเป็นเอกลักษณ์ของคอนกรีต กำแพงปูนเปลือย ดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
โทนสีของการตกแต่งก็เน้นคุมโทนในบรรยากาศอบอุ่น การเลือกวัสดุนำมาใช้ตกแต่งจึงมีทั้งกระเบื้องสี่เหลี่ยมเล็กสีเบจบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ทางเข้า เพราะสีเบจคือสีที่ช่วยสร้างความอบอุ่น สว่าง และเป็นสีวัสดุที่มีความเป็นสากล ประกอบกับบางส่วนของเคาน์เตอร์กับกรอบประตูหน้าต่างที่ทำขึ้นจากไม้ และการจัดไฟที่นวลตายิ่งช่วยส่งเสริมบรรยากาศให้รู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย
เมื่อเข้ามาส่วนโรงอาบน้ำ การใช้งานแบ่งพื้นที่เป็นฝั่งโซนอาบน้ำแยกชายหญิงตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของสถาปนิกในอดีตที่สร้างโรงอาบน้ำในญี่ปุ่น โดยจะใช้กำแพงที่สูง 2.25 เมตรเป็นตัวคั่นแบ่งสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ความสูงของเพดานห้องจะเหนือกำแพงไปอีก ไม่ได้ปิดเป็นห้องปิดตาย ดังนั้นเวลาคนที่มากันเป็นครอบครัวหรือมากับเพื่อนต่างเพศ ถ้าอยากจะคุยกันก็สามารถพูดได้เลย เพราะเสียงที่พูดลอดไปถึงอีกฝั่งได้ หรือกรณีอยากจะหยิบยืมสบู่เครื่องอาบน้ำก็สามารถส่งให้กันข้ามกำแพงได้
การตกแต่งภายในของห้องอาบน้ำ ถ้าสังเกตจะเห็นปูกระเบื้องพอร์ชเลนด์สีเบจแบบเดียวกับเคาน์เตอร์ เพราะสถาปนิกต้องการเชื่อมความรู้สึกจากพื้นที่ด้านนอกเข้ามาถึงด้านใน ขณะเดียวกันเมื่อปูกระเบื้องจะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นและกระเบื้องยังทำหน้าที่เป็นตัวกันลื่นได้ดีกว่าการปูพื้นผิวเรียบธรรมดาด้วย
ส่วนโซนของอ่างแช่น้ำ ด้านในอ่างเลือกปูด้วยหิน Towada หินที่มีลักษณะพิเศษคือการเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมฟ้าเมื่อเปียกน้ำ ช่วยยกระดับให้อ่างดูหรูหรา พรีเมียม น่าลงมากขึ้น หลายคนอาจจะคุ้นตากับหิน Towada เพราะปกติหินประเภทนี้เป็นวัสดุที่นิยมใช้กับออนเซ็นแต่ยังไม่ค่อยมีให้เห็นตามโรงอาบน้ำท้องถิ่นในโตเกียวเท่าไหร่ ส่วนบริเวณถัดมาในโซนสระเย็นกับห้องซาวน์น่าจะใช้วิธีออกแบบให้เป็นสีเดิมที่เข้มขึ้นเพื่อแยกพื้นที่การใช้งาน
หลังจากอาบเสร็จ พอเดินออกมาส่วนบริเวณห้องล็อกเกอร์และบาร์ต้อนรับด้านหน้า พื้นของบริเวณนี้ทั้งหมดปูด้วยไวนิลเนื้อทราย เพราะไวนิลประเภทนี้แห้งง่าย เหมาะกับการใช้งานเวลาเท้าเปียก ที่สำคัญ Schemata Architects ยังเลือกใช้ไม้อัด Birch ไว้สำหรับทำล็อกเกอร์ในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย เพราะมีคุณสมบัติที่ทนต่อความชื้น ใครอยากพาดผ้า เก็บของก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเชื้อรา
นอกจากการตกแต่งที่เลือกมาแบบใส่ใจทั้งสีทั้งฟังก์ชันการใช้งาน สิ่งที่เติมเข้ามาแบบค่อนข้างถูกอกถูกใจวัยรุ่นยันวัยกลางคนคือการปรับ “Bandai” หรือเคาน์เตอร์บาร์รับลูกค้าด้านหน้า ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ที่ขายนมสดอย่างเดียวให้ดื่มหลังอาบน้ำ ยกระดับใหม่ให้กลายเป็นบาร์เบียร์ ด้านข้างมีบูธไว้ประยุกต์ใช้พื้นที่เปิดแผ่นสำหรับดีเจถ้าต้องการทำอีเวนต์ไว้ด้วย เรียกได้ว่าอาบน้ำก็กล่อมเกลา อยากเมาก็ได้เมาสุดเหวี่ยง
เห็นแบบนี้แล้วถึงเราจะอยู่บ้านมีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำในตัวก็อยากจะไปลองใช้งานเซ็นโตเพิ่มขึ้นเหมือนกัน เพราะรู้สึกเหมือนได้ไปผ่อนคลายและไปเที่ยวมากกว่า
กาลเวลาอาจลดความสำคัญของวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบเดิมลง แต่สถาปัตยกรรมและการออกแบบยังคงเป็นจุดเชื่อมโยงที่เก็บรักษาความเก่าและความใหม่ให้อยู่ร่วมกันได้ โจทย์ของการออกแบบที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจึงเป็นการประณีประนอมและสร้างคุณค่า ไม่ใช้ก็ไม่ต้องจบลงด้วยการทำลายเสมอไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.dezeen.com/2020/09/06/schemata-architects-sento-bathhouse-renovation-tokyo-architecture/