พูดถึงเก้าอี้ “Monobloc” หลายคนอาจนึกภาพไม่ออก แต่คุณรู้หรือไม่ว่าเก้าอี้ที่พบได้เสมอตามงานบวชงานบุญในประเทศไทยคือสิ่งเดียวกับดีไซน์ทรงอิทธิพลนี้ ที่เดินทางไปอยู่ทุกมุมโลกตั้งแต่ตลาดนัดจนถึงพิพิธภัณฑ์ชื่อดัง และสามารถสืบประวัติย้อนไปได้ตั้งเกือบ 80 ปี

ดีไซน์ระดับตำนานที่คุ้นตากันถ้วนหน้าเช่นนี้ย่อมนำมาสู่การสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่แปลกตามากมาย ด้วยความราคาถูก ผลิตง่ายในระบบอุตสาหกรรม โดยกระบวนการการละลายพลาสติกแล้วนำไปฉีดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic) และที่สำคัญดีไซน์ที่ใกล้เคียงกับเก้าอี้พลาสติกยอดนิยมในปัจจุบันที่เก่าที่สุดในปี 1946 โดยดี.ซี. ซิมป์สัน (D.C. Simpson) ก็ไม่ได้จำกัดการสร้างสรรค์ของผู้อื่นต่อด้วยการจดสิทธิบัตรแต่อย่างใด

เก้าอี้พลาสติก Monobloc นี้จึงได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปและสำหรับศิลปินที่หยิบไปใช้เพื่อถ่ายทอดแนวคิด ตั้งคำถามต่อการผลิตแบบอุตสาหกรรม ประวัติศาสตร์ชาติ ไปจนถึงวงการแฟชั่น ดังตัวอย่างเหล่านี้

dudes (2012) โดย Bert Loeschner

นั่งคนเดียวมันเหงา เอามาต่อกันให้เป็นม้านั่งคู่เลยดีกว่า ผลงานการต่อเก้าอี้พลาสติกชิ้นเดียวสองตัวให้กลายเป็นงานศิลปะหนึ่งชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในโครงการของศิลปิน Bert Loeschner ที่ต้องการถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ (object) และผู้ใช้งาน (subject) ผ่านเก้าอี้ที่ใช้งานได้จริงบ้างไม่ได้บ้าง

Fake Louis-Vuitton Stuhl (2011) โดย Lu Yii Wij Tong

“เก้าอี้หลุยส์ฯ ปลอม” โดยศิลปินลึกลับที่สร้างขึ้นด้วยการนำเก้าอี้ Monobloc 3 ตัวมาหุ้มหนังลายหลุยส์ วิตตอง (Louis-Vuitton) ตั้งคำถามต่อกระบวนการ(แปะป้าย)ของแฟชั่น ที่เปลี่ยนวัสดุถูก ๆ ให้หรูหราราคาแพง ชวนให้นึกถึงศิลปะแบบดาดา (Dada) หรือศิลปะแบบ “Readymades”

Respect Cheap Furniture (2009) โดย Martí Guixé

 

 

เคารพเฟอร์นิเจอร์ถูก ๆ ด้วย! Martí Guixé ศิลปินชาวสเปนประกาศผ่านข้อความหนาหลากสีบน Monobloc ทั้งสิบตัว ท้าทายความหมายเดิม ๆ ของมัน ทั้งความถูก ความ “ไร้ค่า” หรือลักษณะใช้แล้วทิ้งอันเกิดจากการผลิตแบบอุตสาหกรรม งานชิ้นนี้ยังตั้งคำถามต่อผลกระทบของผลิตภัณฑ์ราคาถูกต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Plastic Chair in Wood (2008) โดย Maarten Baas

เมื่อนึกถึงข้อความ “made in China” คุณนึกถึงอะไร? เก้าอี้ไม้ “สุดคราฟต์” ที่อยู่ในดีไซน์จากยุคอุตสาหกรรมนี้ชวนคิดถึงสองความหมายของผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน: งานฝีมือจากยุคโบราณ งานประดิษฐ์ตัวอักษรจีน ภาพวาด งานกระเบื้อง ฯลฯ และงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ “ของปลอม” งานพลาสติกคุณภาพต่ำ ศิลปินพยายามเก็บความหมายทั้งหมดนั้นไว้ในเก้าอี้นี้ตัวเดียว

dirty thoughts / second thoughts (2009) โดย Rolf Sachs

อีกหนึ่งผลงานที่ใช้เทคนิคการหุ้มกับเก้าอี้ Monobloc แต่คราวนี้วัสดุที่ใช้หุ้มคือผ้ากันกระสุน Kevlar ที่ผ่านการทำลวดลายและทำรอยมาแล้ว เช่นเดียวกับอีกหลายงาน dirty thoughts / second thoughts ตั้งคำถามถึงความไม่ได้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจำนวนมาก (mass product) ในระบบอุตสาหกรรม แต่อะไรคือที่มาของความไร้คุณภาพเหล่านั้นกันแน่? เป็นไปได้ไหมที่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจำนวนมากจะผลิตแบบมีคุณภาพ?

Monobloc Classy (2022) โดย PDM BRAND

แบรนด์ไทยอย่าง PDM เองก็พาดีไซน์เก้าอี้พลาสติกนี้มา “เกิดใหม่” เช่นกัน กับ Monobloc Classy ที่เลือกสีดำสนิทมาใช้ แทนที่จะเป็นสีชมพู สีเขียว หรือสีสดอื่น ๆ แบบเก้าอี้ที่คนไทยคุ้นตากันตามตลาดนัดและวัดทั่วไป โดยเป็นการเกิดใหม่ในแง่วัสดุอีกด้วย เพราะเก้าอี้รุ่นนี้ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% (100% PP Recycled) จาก Post Production Material นำมาวนกลับขึ้นรูปใหม่ ส่วนแนวคิดของงานนี้คืออะไร เราแนะนำให้ลองอ่านจาก statement ที่พิมพ์ “ระดับงานสะสมทางเดียวกับแบรนด์แฟชั่น” ไว้ด้วยกันเองได้เลย

Sources:

Previous articleไฟแบบไหนเหมาะกับการปลูกกัญชาในที่ร่ม
Next article3 กระบวนทัศน์เพื่อรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม จาก เบเยอร์