ในโลกมืดมิดของผู้พิการทางสายตา สถาปัตยกรรมคือแสงที่ส่องถึงและสว่างยิ่งกว่าแสงอาทิตย์กลางฤดูร้อน “วัสดุ” หนึ่งชิ้นที่นำมาใช้มีค่ามากกว่าทองคำ เพราะมันคือเครื่องหมายของความปลอดภัยและชีวิต
วันนี้ BuilderNews ขอพูดถึง เบรลล์บล็อก (Braille Block) วัสดุปูพื้นที่ทางเท้าที่คนดีไม่ค่อยสังเกต แต่สำหรับผู้พิการทางสายตามันทำหน้าที่เลี่ยงมัจจุราชทั้งหลายในมหานครอันจอแจ ไม่ว่าจะเป็นรถที่วิ่งไวไม่เคยรอใคร เสาไฟฟ้าที่ขึ้นทั่วฟุตบาท บันไดสะพานลอยที่มองไม่เห็น ไปจนถึงการแจ้งตำแหน่งให้เตรียมตัวก่อนข้ามทางม้าลายทุกช่วงถนน
ย้อนกลับไปราว 52 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1967 เบรลล์บล็อกได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น คิดค้นโดย Seiichi Meyaki ครูโรงเรียนตาบอด นำมาใช้เพื่อเตือนและบอกทิศทางด้านหน้าโรงเรียน แนวคิดนี้ริเริ่มขึ้นเพื่อกลบ pain point การใช้พื้นที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้พิการทางสายตาทุกคน ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียม เป็นสุข จากเดิมที่ผู้พิการทางสายตาต้องอยู่ในพื้นที่เดิม ๆ ที่คุ้นชิน ในที่สุดก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนได้อย่างเป็นปกติด้วยการพึ่งพาตัวเอง จนกระทั่งสุดท้ายแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรถไฟของญี่ปุ่นเข้า และความฟังก์ชันของวัสดุกับการใช้ชีวิตนี้ได้กลายเป็นรูปแบบสากลสำหรับการออกแบบเมืองสไตล์ UD (universal design) ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอิทธิพลนี้ส่งผลมาถึงทางเท้าในบ้านเราเช่นเดียวกัน
เคล็ดลับของการออกแบบวัสดุชิ้นนี้อยู่ที่ Tactile Paving หรือการสร้างผิวต่างสัมผัสของแผ่นปูพื้นแต่ละชิ้นสำหรับทำหน้าที่แทนเครื่องหมายให้คนตาบอดสามารถใช้ประสาทสัมผัสอื่นนอกจากการมองเห็นเพื่อรับรู้แทนได้ ทันที่ที่ไม้เท้าหรือฝ่าเท้าสัมผัสความไม่เรียบของพื้นถนน
ภาพจาก livejapan.com
ด้วยแนวคิดเรื่องความปลอดภัยที่อยากให้ผู้พิการทางสายตาสามารถช่วยเหลือตนเองได้โดยไร้คนจับจูง สัญลักษณ์เบรลล์บล็อกบนพื้นถนนจึงไม่ต่างจากสัญญาณไฟจราจรบนทางเท้าที่ช่วยเตือนให้ผู้พิการรู้ว่าเส้นทางไหนจะช่วยนำทางพวกเขาไปยังปลายทางได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
บล๊อกหยุด ถ้าเห็นบล๊อกสี่เหลี่ยมที่ก้อนกลมนูนตะปุ่มตะป่ำกระจายทั่วแผ่นบนพื้น หรือคนที่มองไม่เห็นสัมผัสความรู้สึกก้อนปุ่มนูนจากปลายไม้เท้า หรือเท้า ให้รู้ไว้ทันทีว่าเราสมควรหยุด เพราะทางข้างหน้าอาจมีวัตถุหรือพื้นที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลงอย่าง ทางม้าลายหรือบันได
บล๊อกเดินตรง บล๊อกสี่เหลี่ยมที่มีเส้นยาวเป็นลายตรง มีความหมายว่า “ให้เดินตรงไป” เพราะเส้นทางด้านหน้าไร้สิ่งกีดขวาง ถ้าสังเกตตัวนี้จะวางตำแหน่งต่างจากบล๊อกหยุด เพราะมักจะวางยาวต่อเป็นเส้นทางต่อเนื่องเพื่อนำทางเราไปสู่สถานที่บางแห่ง เรียกได้ว่าเป็นเลนส์บนทางเท้าของผู้พิการทางสายตานั่นเอง
นอกจากเรื่องวัสดุแล้วยังมีมาตรฐานเรื่องการติดตั้งอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงด้วย เช่น บล็อกเตือนควรอยู่ห่างจากสิ่งกีดขวาง ได้แก่ ถนน ทางข้าม ทางต่างระดับ ฯลฯ ประมาณ 30 เซนติเมตร บล็อกนำทาง (บล็อกเส้นตรง) ต้องนำทางไปยังพื้นที่ที่ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้งานได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นประตูด้านหน้าสถานีรถไฟฟ้าที่มีพนักงานประจำตำแหน่งอยู่ เพื่ออำนวยสะดวก หรือนำทางไปยังปุ่มกดลิฟต์ ป้ายรถเมล์ ฯลฯ เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นระบบการนำทางของเบรลล์บล็อก ใช้นำทางจริง แต่ไม่ใช่เพื่อนำทางเรากลับบ้าน ทว่าเป็นการนำทางเราไปเชื่อมเส้นทางกับพื้นที่ภายนอกเพื่อเปลี่ยนสถานที่จากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งได้อย่างสะดวกมากกว่า ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าเส้นทางนี้จะสร้างอันตรายหรือนำมิจฉาชีพไปพบที่พักของเหล่าผู้พิการทางสายตา เพราะต่อให้พยายามเดินไล่ตามเบรลล์บล็อกเหล่านี้ไป คุณก็ไม่เจอบ้านใครอย่างแน่นอน
ภาพจาก RocketNews24
วัสดุหนึ่งชิ้นอาจจะไม่เห็นผลชัดเจน แต่เมื่อนำมาเรียงร้อยขึ้นเป็นแผนผัง บล๊อกเล็ก ๆ เหล่านี้มอบฟังก์ชันเชื่อมเมืองกับสังคมที่แตกต่างเข้าด้วยกัน เหมือนการซ้อนโลกที่แตกต่างให้อยู่ในใบเดียวกันได้แนบสนิท ความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมสะท้อนชัดเจนในสังคมญี่ปุ่นที่เป็นแหล่งกำเนิดผ่านทางเดินสีเหลือง จากแผ่นปูพื้นสีเหลืองที่โดดเด่นจากแผ่นทั่วไปจนทุกคนสังเกตเห็นได้ เมื่อพื้นที่สนับสนุนการอยู่ของผู้พิการ การอยู่ร่วมกับระหว่างคนทั่วไปกับผู้พิการจึงไม่เหลื่อมล้ำกัน คนพิการก็อยากจะออกมาจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตมากขึ้น
ถ้าย้อนกลับมามองระบบทางเท้าในบ้านเราอาจจะไม่เห็นความอิมแพ็กชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะการวางก็ยังไม่มีระบบและมาตรฐานตายตัว หลายหน่วยงานยังไม่ได้ระบุข้อบังคับชัดเจน ทำให้แทนที่จะสร้างความปลอดภัยดันเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุมากกว่า หลายครั้งเรามักได้ข่าวการร้องเรียนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นต้นเสาที่โผล่ขึ้นระหว่างบล๊อกเดินตรง การวางบล๊อกหยุดที่กระชั้นเกินไป ไม่ได้ระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับการตีวงเพื่อให้ทั้งคนและไม้เท้าสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก
การเปลี่ยนวัสดุหรือการออกแบบบางครั้งไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอย่างที่คิด และไม่ได้มีขึ้นเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว หวังว่าเรื่องที่เรานำมาฝากในครั้งนี้จะทำให้ทุกคนรู้จักทั้งวัสดุ เมือง และบทบาทของการออกแบบที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น
บางครั้งอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างแปลกตา ซ่อนทั้งความสนุกและเรื่องราวที่น่าค้นหา แต่คุณอาจยังไม่รู้
อ้างอิง: https://japantourlist.com/th/yellow-line-for-haddicapped/003-01/