สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จัดตั้งแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ (miniTCDC CENTER) แห่งที่ 6 ครีเอทีฟฮับแห่งใหม่ของภาคตะวันออก เพื่อขยายโอกาสให้นักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านงานออกแบบและไอเดียในการเริ่มต้นธุรกิจสร้างสรรค์
มนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและการตลาด และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อธุรกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล CEA ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ จึงจับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จัดตั้ง แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ (miniTCDC CENTER) ซึ่งเป็น miniTCDC CENTER แห่งที่ 6 ของไทย
“แหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับภูมิภาค เพื่อให้นักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านงานออกแบบและไอเดีย พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชน ธุรกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอีอีซี”
ภายใน miniTCDC CENTER ประกอบด้วยฐานข้อมูลความรู้ด้านงานออกแบบใน 3 ส่วนสำคัญ คือ
- หนังสือด้านการออกแบบ จำนวน 500 เล่มต่อปีการศึกษา พร้อมตู้หนังสือสำหรับติดตั้งในพื้นที่ห้องสมุด โดยประเภทของหนังสือครอบคลุมสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม แฟชั่นและสิ่งทอ เรขศิลป์ ภาพนิ่งและภาพยนตร์
- ตัวอย่างวัสดุเพื่อการออกแบบจากทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 24 ชิ้นต่อปีการศึกษา อาทิ ผ้าที่ผลิตจากยางรถยนต์รีไซเคิล หนังสัตว์ที่แกะลายและตัดด้วยเลเซอร์ทำให้ดูเหมือนหัตถกรรมผ้าลูกไม้แบบสเปน และผ้าลินินทอด้วยมือที่มีลวดลายคล้ายตารางหมากรุก เป็นต้น
- บริการฐานข้อมูลออนไลน์ และฐานข้อมูลที่ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ ได้แก่ ฐานข้อมูล Global Market Information Database (GMID) นำเสนอข้อมูลเพื่อการวิจัยและการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ทางการตลาด ส่วนแบ่งตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงแนวโน้มตลาดเกิดใหม่ของอุตสาหกรรมต่างๆ มากกว่า 200 ประเทศรวมถึงฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion นำเสนอข้อมูลวัสดุเพื่อการออกแบบที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่า 7,500 ชนิด และข้อมูลผู้ผลิตกว่า 3,000 แห่งจากทั่วโลก เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในพื้นที่อีอีซี คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการรังสรรค์ใหม่โดย CEA จำนวนรวมทั้งสิ้น 10 ชิ้น อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้สามารถแสดงรูปลักษณ์สินค้า และช่วยป้องกันความเสียหายระหว่างขนส่งสำหรับปลาทูเค็ม หรือบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อรองรับรูปทรงของทุเรียนกวนที่มีลักษณะยาว
โดยบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นถูกคิดค้นจากพื้นฐานของการผสมผสานเทคนิคการออกแบบสมัยใหม่ ร่วมกับกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มีฟังก์ชั่นบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มีความต้องการหลากหลายยิ่งขึ้น
“สถาบันการศึกษาที่ร่วมเป็นเครือข่ายกับ CEA จะมีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ และต่อยอดความรู้จากการเรียนการสอนในภาคปกติ รวมถึงการมอบทุนสนับสนุนองค์ความรู้ และกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สถาบันการศึกษาดำเนินการร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของเมืองอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ miniTCDC CENTER สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ พร้อมเปิดให้บริการแก่คณาจารย์ นักศึกษา นักออกแบบ ผู้ประกอบการในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ที่มีความสนใจ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น.