BuilderNews เชื่อพลังของวัสดุเสมอ เราจึงนำเสนอเรื่องราวของวัสดุใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เราเห็นได้รอบตัวจากบ้านเราหรือความเปลี่ยนแปลงของวงการวัสดุในระดับโลก แต่หนนี้เราอาจจะไม่ได้นำมาเล่าเรื่องเทคโนโลยีเหมือนทุกครั้ง ทว่ามาพูดถึง “ราก” ที่นามธรรมซึ่งฝังอยู่ในการใช้วัสดุของสถาปนิก

“When looking at sites, we always see the new building as a link. We try to extract
the essence of a city, and translate it into a different form. That way, the link between the old and the new becomes much firmer.”
Yuki Ikeguchi

นี่คือคอนเซ็ปต์ที่ Yuki Ikeguchi สถาปนิกเจ้าของผลงาน พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ODUNPAZARI กล่าวถึงอาคารแห่งนี้ เขาตีความแก่นแท้ของเมืองแปรมันออกมาเป็นผลงานที่เชื่อมโยงระหว่างความเก่าและความใหม่ ด้วยความหมายที่มากกว่าการออกแบบสถานที่ธรรมดาให้กระชับความรู้สึกยิ่งขึ้นไปถึงราก

สำหรับวัสดุที่เรานำมาเล่าในครั้งนี้คือ ไม้ ที่สถาปนิกเลือกนำมาออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Odunpazari ที่ตั้งอยู่กลางเมือง Eskisehir เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตุรกี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีขนาด 3,582 ตารางเมตร มีทั้งสิ้น 3 ชั้น

พื้นที่ภายใน Odunpazari แบ่งโซนไว้สำหรับจัดนิทรรศการ กิจกรรมทางศิลปะ (จากที่ดูขนาดค่อนข้างใหญ่ก็จุคนไว้ทำ Workshop ได้พอสมควร) จัดภาพแกลอรีและมีที่สำหรับจัดเป็นคาเฟ่ภายในให้นั่งจิบเครื่องดื่มชิล ๆ อารมณ์อาจจะคล้าย ๆ กับ BACC ในบ้านเรา แต่สิ่งที่แตกต่างคือการเว้นช่องให้แสงผ่าน จึงทำให้อาคารมีแสงธรรมชาติสร้างชีวิตชีวาให้ผู้คนภายในอาคาร

เล่าเรื่องเก่าด้วยความใหม่จากดีไซน์

เมื่อนำมาผสมกับการออกแบบของ Kengo Kuma สถาปนิกชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความละเอียดอ่อนมาออกแบบผลงานที่ตุรกี การออกแบบจึงไม่ได้เป็นโครงสร้างที่คุ้นตาหรือโมเดิร์นล้ำ ๆ แต่มีลักษณะมินิมัลและเต็มเปี่ยมด้วยความหมาย

Kengo Kuma ที่ OMM : Credit by OMM

“ไม้” ที่นำมาใช้เป็นไม้ลามิเนตแผ่นโต ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมาะกับฟังก์ชันการใช้งานที่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งตั้งใจสร้างไว้สำหรับเป็นพื้นที่เชิญชวนให้คนเข้ามาด้านใน หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการเลือกไม้นำมาใช้เชื่อมโยงกับพื้นที่ปลูกสร้างอาคารในตุรกีด้วย เพราะตามประวัติศาสตร์พื้นที่แห่งนี้ของตุรกีเคยเป็นพื้นที่ค้าขายไม้มาก่อน และชื่อนั้นถูกนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อของอาคารว่า Odunpazari ซึ่งแปลว่า “ตลาดค้าไม้”

ตัวอย่างการเข้าไม้ภายในอาคาร

พิจารณาจากโครงสร้างที่หน้าตาเหมือนกล่องซ้อนกันจะเห็นว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ออกแบบโครงสร้างโดยใช้ไม้ซ้อนทับกันจนเกิดรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ ภายนอกแม้ดูเรียบง่าย แต่ภายในเห็นได้ชัดว่ามีลูกเล่นจากการเรียงตำแหน่งไม้ให้อยู่ในทรงแปลกตา ไม่น่าเบื่อจำเจ ไม้จะค่อย ๆ บิดทีละน้อยให้เห็นมิติแปลกตา รวมกับช่องแสงที่ลอดเข้ามาทำให้อาคารศิลปะแห่งนี้ยิ่งมีเสน่ห์เพิ่มขึ้น

วัสดุ ที่มีความหมายเมื่อนำมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรม ออกแบบอย่างพิถีพิถันจะนำทุกคนมารวมกันได้ เช่นเดียวกับที่ Odunpazari Modern Museum ทำหน้าที่ของมัน เชื่อมทุกหน่วยในสังคมเข้าด้วยกันโดยที่เราไม่รู้ตัว

ถ้าพื้นที่ในเมืองของเราคิดและออกแบบอย่างนี้ เราคิดว่าไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่อยากจะเข้ามาศึกษาหรือใช้ space เหล่านี้แต่เราเชื่อว่าคนท้องถิ่นเอง ก็จะรัก หวงแหน และเข้ามาใช้งานแบบนี้เช่นเดียวกัน

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

  1. https://www.dezeen.com/2019/09/08/kengo-kuma-odunpazari-modern-museum-opens/
  2. https://www.omm.art/en/news/the-museum-as-a-living-space

ภาพประกอบทั้งหมดนำมาจาก : NAAROBatuhan KeskinerKemal Seçkin, omm.art และ dezeen.com

Previous article“Dome Tent” เต้นท์โดมทรงกลม ทนทุกสภาพอากาศ สร้างสรรค์พื้นที่ให้น่าจดจำ
Next article“OVAL Collection” ชุดสุขภัณฑ์ดีไซน์วงรี ในแบบฉบับเรียบแต่หรู