โลกเปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี่ยน คำถามคือเราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงกับสถานการณ์เหล่านี้ ค้นพบคำตอบของข้อสงสัยต่าง ๆ ผ่านการเสพงานศิลป์ไปกับงาน Bangkok Design Week 2020 ที่ในปีนี้ขยายสเกลการจัดงานยิ่งใหญ่กว่าเดิม ภายใต้ธีม “Resilience: New Potential for Living ปรับตัว อยู่รอด เติบโต” ที่นำเสนอปัญหาต่าง ๆ ในสังคมโดยใช้ศิลปะและงานออกแบบเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่
“สามย่าน” เป็น 1 ใน 4 สถานที่ที่ทางผู้จัดงานเลือกเป็นพื้นที่ในการแสดงผลงาน หากใครเคยไปเดินเล่นแถวย่านนี้คงจะพอนึกภาพออก ตึกแถวเรียงรายต่อ ๆ กัน มีห้องเก่า ๆ บ้าง มีห้องใหม่ที่รีโนเวทใหม่บ้าง บางห้องเป็นบ้านพักอาศัย บางห้องเป็นร้านอาหาร บางร้านเป็นร้านยานยนต์ คละ ๆ กันไป และอีกสิ่งที่น่าสังเกตคือย่านชุมชนนี้ถูกรายล้อมด้วยตึกสูงรูปทรงทันสมัย ที่ถูกการพัฒนานำพาให้มันมาอยู่ด้วยกัน
งาน Bangkok Design Week 2020 ที่สามย่าน พิกัดตึกแถวห้อง 1527 มีการจัดแสดงผลงานภายในตึกแถวที่มีอายุเก่าแก่กว่า 50 ปี เป็นไปในรูปแบบของการจัดแสดงผลงานออกแบบเชิงทดลอง ภายใต้การตีความเนื้อหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของบริบทเมืองและพฤติกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ใช้ชื่อว่า “Phāla (ผล) Floral installation and tea experience” โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ PHKA, workteapeople และ The Shophouse 1527
Phāla (ผล): Floral installation by PHKA
สตูดิโอ PHKA สร้างสรรค์อินสตอลเลชันดอกไม้ในชื่อ “PHKA: KARMA” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญหาทางสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเสื่อมสภาพของน้ำ การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ หรือปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบย้อนกลับโดยตรงต่อมนุษย์ทุกคน รวมถึงกับพืชและสัตว์ด้วย
โดยสะท้อนออกมาเป็นอินสตอลเลชันดอกไม้ชุดนี้ ที่มีการนำดอกไม้ ใบไม้ พืชชนิดต่าง ๆ มาจัดวาง แทนการเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต แล้วเลี้ยงชีพพวกมันด้วยการรดน้ำเสีย เปรียบเสมือนการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีขยะ และแหล่งน้ำเน่าเสียภายในชุมชน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เมื่อกาลเวลาผ่านไป ดอกไม้เหล่านี้ก็จะเฉาตาย เฉกเช่นกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มนุษย์ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด โดยอินสตอลเลชันชุดนี้มุ่งหวังให้เกิดการตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบทั้งจากการกระทำและไม่กระทำ
หากสังเกตดู อินสตอลเลชันชุดนี้ถูกรังสรรค์ขึ้นเป็นโครงสร้างตามแบบ Ascending and Descending ของ Escher จำลองเหมือนการขึ้นลงบันไดที่ไม่มีสิ้นสุด และไม่ได้นำไปสู่ที่ใดเลย ถูกกักขังอยู่ในที่เดิมไม่สามารถไปไหนได้ สะท้อนถึงปัญหาในชีวิตจริงที่ไม่สามารถแก้ไขได้สักที และวนลูปซ้ำไปซ้ำมา แก้ไม่หาย
Phāla (ผล): Tea Experience by Work Tea People
ถัดมาอีกหนึ่งผลงานที่จัดแสดงภายในตึกเดียวกัน กับผลงานที่มีชื่อว่า Tea Experience สร้างสรรค์โดย Work Tea People ซึ่งผลงานดีไซน์ชิ้นนี้มีแนวคิดที่น่าสนใจมาก เขาหยิบยกประเด็นในเรื่องของมลภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อเรื่องความรู้สึก จิตใจของคนแต่ละคน ที่หลายคนอาจจะไม่รู้เลยว่าเพื่อนร่วมงานที่เราเจอะเจอกันอยู่ทุกวันนี้เขาต้องเผชิญกับอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน แล้วลับหลังเราเขามีจะสภาพจิตใจเป็นเช่นไร
ในผลงานชิ้นนี้หยิบยกเอา “ชา” มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง ร่วมกับภาพความรู้สึกของบุคคลที่ต้องเผชิญกับสภาวะต่าง ๆ อันเลวร้าย โดยให้ชาเป็นเครื่องมือในการรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ และเป็นตัวช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย บรรเทาผลกระทบภายในจิตใจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
เป็นเรื่องยากที่เราจะเลี่ยงมลภาวะทางความรู้สึกอันโหดร้าย ท่ามกลางการใช้ชีวิตในโลกแห่งทุนนิยมที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนต่างต้องดิ้นรน เผชิญหน้า และต่อสู้กับหน้าที่ในชีวิตประจำวันของตนเอง
หากใครช่วงนี้เหนื่อยล้าจากหน้าที่การงานหรือการเรียน เราอยากเชิญชวนมาเสพงานศิลป์ดี ๆ สะท้อนปัญหาในสังคมไปกับงาน Bangkok Design Week 2020 ที่จะมีถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 สามารถดูรายละเอียดและโปรแกรมงานต่าง ๆ ได้ที่ https://www.bangkokdesignweek.com/ แล้วอย่าลืมพกหน้ากากอนามัยไปชมงานศิลป์กันด้วยนะ เพื่อความปลอดภัยจากโรคโคโรนาและฝุ่น pm 2.5