ทุกวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ขยะกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โลกของเราก็ถูกทำร้ายมากขึ้น ทว่าปัญหาก็ยังคงคาราคาซังอยู่อย่างนั้น ทางออกต่าง ๆ ก็มีมากมายซึ่งล้วนแล้วเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ให้โลกได้อยู่กับเราไปนาน ๆ โดยผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ความสามารถ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ “ความคิดสร้างสรรค์”

ในวันนี้จึงพาทุกคนไปรู้จักกับ “FabBRICK” การเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่า ๆ ให้เป็นนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างรีไซเคิล ที่ถือเป็นตัวแทนของการตอบกลับกระแสเหล่านั้นได้อย่างดี ด้วยการผสมผสานกับไอเดียที่ไม่เคยมีใครคิดว่ามันจะง่ายและชาญฉลาดเช่นนี้

ความจริงแล้วในยุโรปทุก ๆ ปี จะมีสิ่งทอทั้งหมด 4 ล้านเมตริกตันถูกทิ้ง ในขณะที่ภาคส่วนการก่อสร้างคือส่วนที่สร้างขยะมากที่สุด (แค่ในฝรั่งเศสก็ 227 ล้านเมตริกตันแล้ว) ซึ่งจะเกิดอะไรขึ้นถ้านำสองอุตสาหกรรมนี้มาหมุนเวียนกัน เราจะสามารถจำกัดขยะได้มากขึ้นและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นได้ไหม?

นี่คือความท้าทายที่ Clarisse Merlet ผู้ประกอบการและสถาปนิกสร้างขึ้นด้วยไอเดียที่เรียบง่ายทว่าชาญฉลาดอย่าง “FabBRICK” อิฐที่สร้างจากเสื้อผ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว

โดยเฉลี่ยแล้วอิฐที่ผลิตจาก FabBRICK 1 ก้อนจะมีจำนวนเทียบเท่ากับเสื้อยืด 2 ตัว โดยวัตถุดิบคือผ้าที่ฉีกแล้วซึ่งได้มาจากบริษัทรวบรวมเสื้อผ้า และเศษผ้าหลากสีเหล่านั้นจะถูกนำไปผสมกับกาวที่คิดค้นโดย Clarisse Merlet หลังจากนั้นจึงนำไป Mold และบีบอัดด้วยเครื่อง ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดยังเป็นส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติและไม่มีสารพิษ

เครื่องมือที่ใช้นั้นไม่ต้องการพลังงานจากที่อื่นเลย นอกจากการบังคับด้วยมือซึ่งเปิดใช้งานได้ด้วยแม่แรง โดยเป็นการออกแบบเฉพาะเพื่อโปรเจ็กต์นี้ และกระบวนการสุดท้ายจะเป็นการปล่อยให้อิฐแห้งโดยธรรมชาติ 2 สัปดาห์ ซึ่งอิฐเหล่านั้นจะสามารถล็อกตัวเองได้อย่างอัดแน่นเป็นก้อนเดียวกันและสามารถวางซ้อนทับกันได้โดยไม่ล้ม

“ฉันคือนักศึกษาสถาปัตยกรรมที่กำลังมองหาทางที่สร้างสิ่งใหม่ได้ในทางที่แตกต่าง” Clarisse Merlet กล่าว “ฉันจึงสร้างตัวต้นแบบที่แตกต่างด้วยกาวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพยายามค้นหาทางที่ไม่เหมือนใครในการนำเนื้อผ้าไปใส่ใน Mold และบีบอัดมันเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นตัวต้นแบบที่ถือว่าน่าประทับใจซึ่งป้องกันไฟและในขณะเดียวกันก็ปราศจากความชื้นอีกด้วย”

และภายใน 3 ปี FabBRICK ได้เปลี่ยนเศษสิ่งทอ 8 เมตริกตันไปสู่ก้อนอิฐมากกว่า 17,000 ก้อนเลยทีเดียว! โดย Clarisse Merlet ได้ส่งมอบอิฐเหล่านั้นให้กับโครงการก่อสร้าง 7 โครงการ ในบรรดาลูกค้าของเธอมีแบรนด์ Jules ที่ใช้อิฐของเธอในการสร้างพาร์ติชั่นและห้องเก็บของ กลายเป็นการ “กลับคืนสู่ผู้ส่ง” ของจริง

ทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลงทุกวันกับขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คือแรงบันดาลใจในการคิดค้น “FabBRICK” ของ Clarisse Merlet ด้วยแนวคิดที่เรียบง่ายทว่าแยบยล ซึ่งสะท้อนได้ว่าสิ่งดี ๆ อาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่มันอาจเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนจนเกินไป มันก็สามารถเกิดเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าได้เช่นกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.livingcircular.veolia.com/en/city/fabbrick-makes-bricks-out-our-old-clothes

Previous article“The Line” เมืองพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสุดก้าวล้ำแห่งซาอุดีอาระเบีย
Next articleชวนปรับแต่งบ้านรับ Work From Home ช่วงโควิด
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว