ในบรรดาเกาะใกล้กรุงทั้งหลาย ยังมีเกาะอีกแห่งที่มีความทรงจำในแง่มุมประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ เกาะสีชัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พื้นที่ส่วนหนึ่งบนเกาะสีชังเคยเป็นพระราชวังฤดูร้อนในนาม ‘พระจุฑาธุชราชฐาน’ ซึ่งมีพระตำหนักส่วนพระองค์ทั้งที่สร้างและอยู่ในระหว่างก่อสร้าง จนเมื่อเกิดวิกฤติ ร.ศ. 112 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชดำริให้ยุติการก่อสร้าง และไม่ทรงแปรพระราชฐานไปยังพระจุฑาธุชราชฐานอีกเลย
จากอดีต
พระจุฑาธุชราชฐานเคยได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังฤดูร้อน และเป็นพระราชวังแห่งเดียวที่สร้างบนพื้นที่ที่เป็นเกาะ เดิมที
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอาคารไศรยสฐานหรือเรือนรักษาตัวและพักฟื้นสำหรับผู้ป่วย โดยสร้างขึ้น 3 เหล่า คือ เรือนวัฒนา เรือนผ่องศรี และเรือนอภิรมย์ พระราชทานนามตามพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี, พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ (ตามลำดับ) จนเมื่อพระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ใกล้มีพระประสูติกาล รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาที่เกาะสีชังและมีพระราชดำริให้สร้างพระจุฑาธุชราชฐานขึ้น โดยพระราชทานนามตามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ในปี พ.ศ.2435
เดิมทีรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระราชฐานขึ้นมาโดยมีพระที่นั่ง 4 องค์และตำหนัก 14 ตำหนัก จนเมื่อเกิดวิกฤติ ร.ศ. 112 ช่วงปีพ.ศ. 2436 ซึ่งสยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสที่ขณะนั้นเรืองอำนาจอยู่ในลาว และได้นำเรือรบเข้าปิดอ่าวไทยและยกพลบางส่วนขึ้นเกาะสีชัง จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ยุติการสร้างพระราชฐานแห่งนี้และรื้อถอนพระที่นั่งที่กำลังก่อสร้าง หนึ่งในพระที่นั่งที่ยังคงเป็นที่รู้จักอยู่โดยเฉพาะกับผู้คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ นั่นคือ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่ถูกรื้อถอนแล้วเชิญมาสร้างใหม่ใกล้พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต เมื่อภายหลังพระราชทานนามว่าพระที่นั่งวิมานเมฆ หลังจากเหตุการณ์วิกฤติ ร.ศ. 112 รัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้ทรงเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระจุฑาธุชราชฐานอีกเลย เหลือไว้แต่พื้นที่แห่งอดีตที่อบอวลไปด้วยภาพความงดงามในความทรงจำ
(ข้อมูลบางส่วน : Wikipedia)
สู่ปัจจุบัน
หากคุณชื่นชอบการท่องเที่ยวระยะใกล้เพื่อสัมผัสกลิ่นอายแห่งอดีต พระจุฑาธุชราชฐานเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ควรมาเยี่ยมเยือน เพียงเดินทางมายังท่าเรือเกาะลอย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และโดยสารเรือข้ามฟากไม่นานนักก็จะมาถึงเกาะสีชัง หลังจากนั้นจึงค่อยใช้บริการรถเครื่องเพื่อเดินทางต่อไปยังพระจุฑาธุชราชฐาน ซึ่งสิ่งปลูกสร้างแรกที่ยืนเด่นต้อนรับคุณอยู่ก็คือ สะพานไม้สีขาวนาม ‘สะพานอัษฎางค์’ ซึ่งทอดออกไปในทะเล
ปัจจุบันอาคารโบราณในพระจุฑาธุชราชฐานบนเกาะสีชังได้รับการบูรณะ หลังจากที่ครั้งหนึ่งเคยทรุดโทรมลงตามกาลเวลา โดยอาคารโบราณที่ยังคงโดดเด่นอยู่ที่นี่คือเรือนวัฒนา ซึ่งเป็นตึกสี่เหลี่ยม 2 ชั้นมีเฉลียง เรือนผ่องศรี ตึกกลม 3 ห้อง มีเฉลียงรอบ และเรือนอภิรมย์ ตึกยาว 5 ห้อง มีเฉลียงหน้าบ้าน ซึ่งหลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้ามา
ขอใช้สถานที่ในปี พ.ศ. 2545 ได้ปรับปรุงและอนุรักษ์อาคารโบราณ พร้อมสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำของพระบรมวงศานุวงศ์ในอดีต
นอกจากนี้เรือนไม้อีกหลังที่โดดเด่นอยู่ริมทะเลในบริเวณพระจุฑาธุชราชฐาน เป็นเรือนไม้สีเขียวที่มีชื่อเรียกขานง่ายๆ ว่า ‘เรือนไม้ริมทะเล’ ซึ่งได้รับการบูรณะให้สวยงาม ทว่าอาคารหลังนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าเดิมทีเคยเป็นเรือนพักของฝรั่งที่เข้ามาทำการค้ากับสยาม จนเมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริสร้างพระราชฐานขึ้น เรือนหลังนี้จึงเป็นที่พักของเหล่าข้าราชบริพาร ปัจจุบันใช้สำหรับจัดแสดงนิทรรศการและเป็นจุดเช็คอินสำคัญที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
นิตยสาร Builder Vol.34 AUGUST 2016