เพิ่งผ่านวันสารทจีนมาสด ๆ ร้อน ๆ คนที่เป็นลูกหลานเชื้อสายจีนทั้งหลายคงมีโอกาสได้ไหว้หมูเห็ดเป็ดไก่และประกอบพิธีกรรมเผาข้าวของไปให้บรรพบุรุษ เล็ก ๆ หน่อยก็ก้อนเงินก้อนทอง พอชิ้นใหญ่ขึ้นอาจจะมีเสื้อผ้า ลามไปถึงเทคโนโลยีหรือบ้านกันเลย
นั่นก็เป็น “กระดาษ” ในบทบาทเก่า ค่านิยมที่ต่อให้ใช้กระดาษได้วิจิตรครีเอตแค่ไหนก็ยังไม่ใช่ของคนเป็น แต่พอวันเวลาผ่านไป คนเริ่มมาให้ความสำคัญกับวัสดุประเภท “กระดาษ” มากขึ้นและหยิบมาสร้างสรรค์ให้คนที่ยังมีชีวิตได้ใช้งานกัน
หนึ่งในงานที่น่าสนใจล่าสุดที่เจอมาจนอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังเพราะเข้ากับช่วงนี้พอดีคือผลงานเฟอร์นิเจอร์กระดาษของดีไซเนอร์สาวชาวลอนดอน Ying Chang ในคอลเลกชัน Malleable State ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ Kleureyck: Van Eyck’s Colours in Design exhibition ที่พิพิธภัณฑ์ Design Museum Gent ประเทศเบลเยียม โดยคอลเลกชันประกอบด้วยเก้าอี้ โครงสร้างโต๊ะ ชั้นวาง กระจก จนถึงของชิ้นเล็กอย่างแจกันที่กันน้ำได้
ว่ากันด้วยวัสดุ แม้หลายคนคงมองว่า “กระดาษ” ก็ไม่ใช่วัสดุใหม่อะไรขนาดนั้นในวงการเฟอร์นิเจอร์ แต่ส่วนตัวคิดว่าชิ้นนี้น่าสนใจที่ความต่างของการนำเสนอ เพราะที่แล้วมา “กระดาษ” มักไม่ได้แสดงรูปร่างและฟอร์มที่เป็นเอกลักษณ์ของกระดาษมากนักเวลานำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ชิ้นนี้กลับกล้านำเสนอจุดนั้น แค่มองผ่าน เราก็มองออกทันทีว่าทำขึ้นมาจากกระดาษแน่นอน
ความโดดเด่นของงานอยู่ที่การขึ้นรูปด้วยมือ แม้จะทากาวติดกับกระดาษหลาย ๆ แผ่นเพิ่มเสริมความหนาและทนทาน แต่ก็ต่างจากรูปแบบเดิมเวลาเราเอากระดาษมาสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ ที่เรามักจะนำมาใช้ในรูปของ Paper-Mache ฉีกกระดาษ ป่น ๆ ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วอัดผสมกาวเอาเพื่อเพิ่มความแน่นหนาและทนทานของมวล ทำให้เนื้อวัสดุมีลักษณะคล้ายดินเหนียว สามารถปั้นขึ้นรูปได้
ถึงเราอาจจะมองว่าการใช้กระดาษเป็นแผ่นเลยดูปวกเปียกไปหน่อย แต่เรื่องนี้ Ying Chang อธิบายไว้ในบทสัมภาษณ์ของ Dezeen ว่า “กระดาษแผ่นเดียวอาจจะมีความแข็งแรงค่อนข้างจำกัด แต่จริง ๆ ความแข็งแรงของมันก็คล้ายวัสดุอื่น ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นได้ถ้ายึดติดไว้ด้วยกัน มันจะแข็งแรงขึ้นถ้าเอามาเชื่อมติดกันราว 20-30 ครั้ง”
“ด้วยเทคนิคการประดิษฐ์จากกระดาษแบบที่ฉันทำ มันช่วยขยายขอบเขตเสน่ห์ของวัสดุได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สะท้อนมุมมองการรับรู้คุณค่าแบบใหม่ ๆ”
Ying อธิบายกระบวนการใช้เทคนิคขึ้นรูปสไตล์นี้ว่าเธอเริ่มต้นจากกระดาษสีน้ำตาลก่อน เพราะกระดาษสีนี้มักจะเป็นสีหลักที่ใช้ในกระดาษแข็ง หรือกระดาษลังทั้งหลายที่เราเห็นคนเอามาทำเฟอร์นิเจอร์กระดาษบ่อย ๆ เพื่อให้คนเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงเอกลักษณ์วัสดุ อีกทั้งการใช้รูปทรงเดิมยังทำให้กระดาษเปล่งประกาย เวลาคนผ่านไปผ่านมาก็ต้องหยุดมอง
จากนั้นก็เริ่มพัฒนาให้เห็นกระดาษสีอื่น ๆ ที่นำมาใช้มากขึ้น และดัดแปลงการตกแต่งด้วยการพิมพ์ลวดลายดิจิทัลลงไปผสมอย่างที่เห็น แต่ถ้านอกเหนือจากเก้าอี้กระดาษตัวสีน้ำตาลนั้น สังเกตเห็นได้ว่าเอกลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นเราจะมีโอกาสได้เห็นรอยยับของกระดาษที่เสริมแต่งเข้าไปด้วยเพื่อไม่ให้ลืมวัสดุดั้งเดิมของมัน
บางชิ้นก็ตั้งใจเล่นกับมุมมองของเราที่ชินกับการใช้วัสดุอื่น เช่นเดียวกับเก้าอี้สีชมพูจากกระดาษตัวนี้ที่ก๊อบปี้รูปทรงเหล็กโปร่งที่เราเคยเห็นนำมาใช้สร้างเฟอร์นิเจอร์มาออกแบบ
อย่างไรก็ตาม ทุกการออกแบบเธอก็ยังเคลมเน้น ๆ เรื่องความแข็งแรงเลยว่าเห็นเป็นกระดาษแบบนี้อย่าประมาทความแกร่ง เพราะเอาไปงัดข้อกับไม้ได้สบาย ๆ เลย
ปีนี้ชาว BuilderNews คงไม่มีโอกาสบินไปเห็นผลงานจริง เพราะยังติดขัดเรื่องการเดินทาง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสได้สำรวจไอเดียใหม่ ๆ ที่อยู่ต่างประเทศเพราะช่องทางออนไลน์ยังเพียงพอให้เสาะหาข้อมูลได้ ที่สำคัญงานนิทรรศการนี้ไม่ได้มีแค่ผลงานการสร้างสรรค์จากกระดาษเป็นเฟอร์นิเจอร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีคอลเลกชันอื่นของศิลปินคนอื่นอีกเพียบ ลองเข้าไปดูแบบกว้าง ๆ เป็นน้ำจิ้มกันก่อนได้ที่ https://www.designmuseumgent.be/en/events/vaneyck
ส่วนใครที่อยากไปดูของจริงและไม่ได้อยู่ที่เบลเยียม ยังถือว่าพอมีโอกาส ถ้าสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นภายในปีหน้าอาจจะบินไปดูกับตาเองได้ เนื่องจากงานจัดระหว่างวันที่ 18 พ.ค. 2563 – 21 ก.พ. 2564
การต่อสู้หักล้างความเชื่อด้วยความคิดสร้างสรรค์ แม้จะใช้เวลานานกว่าจะได้รับการยอมรับ แต่ก็เกิดขึ้นได้ เราอยากให้สถาปนิกและนักออกแบบที่กำลังตัน ๆ ลองสร้างแรงบันดาลใจให้การทำงาน สร้างมินิโปรเจกต์ประเภทลบมลทินและค่านิยมความเชื่อวัสดุเดิมมาปลุกปั้นมุมมองใหม่บ้าง
เชื่อว่าไอเดียที่ทำใหม่อาจจะช่วยให้เราเลิกเพลย์เซฟและกลับสนุกกับการทำงานเหมือนตอนที่ยังเด็ก ๆ ไม่กลัวความผิดพลาด ในช่วงเครียด ๆ แบบนี้ได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.dezeen.com/2020/08/31/malleable-state-ying-chang-paper-furniture/
https://www.designmu seumgent.be/en/events/vaneyck