ขณะที่โลกของเรายังต้องการสิ่งอุปโภคบริโภคเพื่อคนจำนวนมหาศาล แต่แหล่งผลิตและสร้างงานอย่างโรงงานก็ยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ร้ายทำลายธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะฝ่ายโรงงานต่าง ๆ ล้วนพยายามปรับตัวให้เข้าเกณฑ์ที่ปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนโรงงานใหม่ก็พยายามสร้างโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้จะไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตจนเป็น 0 ได้ 100% แต่ก็ตั้งต้นด้วยปริมาณการผลิตก๊าซเรือนกระจกที่น้อยกว่าโรงงานทั่วไปถึง 50%
Vestre หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตเฟอร์นิเจอร์แบบยั่งยืนได้ประกาศวางแผนออกแบบโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน Magnor ประเทศนอร์เวย์และตั้งชื่อโรงงานนี้ว่า “The Plus” โดยมีกำหนดการให้สร้างแล้วเสร็จภายในปี 2021-2022
ไม่ใช่แค่แผนการสร้างโรงงานอย่างยั่งยืนเท่านั้นที่ทำให้น่าจับตามอง แต่ว่ากันว่า The Plus เป็นโรงงานที่ใช้การลงทุนจำนวนมหาศาลในรอบหลายทศวรรษ คิดแล้วเป็นจำนวนถึง 300 ล้านนอร์เวย์โค (NOK – สกุลเงินนอร์เวย์) หรือราว 1,037,408,472 บาท แถมยังได้มือดีอย่าง Bjarke Ingels Group (BIG) บริษัทด้านสถาปนิกชื่อดังระดับโลกสัญชาติเดนมาร์กเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย
กว่าจะเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวได้
เดิมในปี 2013 Vestre เคยเปิดโรงงานผลิตส่วนประกอบเหล็กและอะลูมิเนียมที่เมือง Torsby ประเทศสวีเดน ครั้งนั้นได้ Snøhetta บริษัทสถาปนิกชื่อดังสัญชาตินอร์เวย์เป็นผู้ออกแบบ ต่อมาต้องการขยายการผลิตและสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการอุตสาหกรรมจึงตั้งใจจะเปิดโรงงานเคลือบและประกอบเพิ่มเติมที่เมือง Magnor ประเทศนอร์เวย์
“ความท้าทายในยุคของเราคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ แต่ผมก็เชื่อว่าพวกเราช่วยโลกใบนี้ได้ แม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ความยั่งยืนของเราขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเลือก” – Jan Christian
จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์สีเขียวเกิดจากวิสัยทัศน์ประโยคด้านบนของ Jan Christian ซีอีโอแบรนด์ Vestre เขาจึงประกาศสร้าง The Plus โรงงานแห่งใหม่ใน Magnor ให้เป็นโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลงทุนนำเทคโนโลยี 4.0 เข้ามาแก้ปัญหาเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโรงงานให้เป็นต้นแบบกระตุ้นความสนใจของผู้คน รวมทั้งวางเป้าหมายว่าให้โรงงานแห่งนี้ผ่านข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าโรงงานทั่วไปครึ่งหนึ่ง
นอกจากเป็นการตั้งใจสร้างโรงงานสีเขียวแล้ว Vestre ยังมองการณ์ไกล วางเป้าหมายให้โรงงานแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในนอร์เวย์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบสถาปัตยกรรมและการพักผ่อนในพื้นที่สีเขียวด้วย เพราะภายในโรงงานแห่งนี้แบ่งพื้นที่ให้เป็นบริเวณสวนกว้างขวางกว่า 30 เฮกตาร์หรือราว ๆ 74 เอเคอร์เลยทีเดียว ทั้งหมดนี้เกิดจากเป้าหมายหลักที่ทีม Vestre และ BIG ตั้งใจคือการสร้างพื้นที่รูปแบบใหม่ที่บูรณาการให้คน การผลิต เทคโนโลยี สถาปัตยกรรมและธรรมชาติรวมและอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
รูปแบบของโรงงานสีเขียว สถาปัตยกรรมแห่งความยั่งยืน
The Plus เป็นโรงงานที่ออกแบบให้มีรูปทรงเป็นตัว X แบ่งเป็น 4 ปีก เข้าใจว่าตั้งใจให้ตรงกับชื่อ The Plus ที่เป็นเครื่องหมายบวกในเชิงคณิตศาสตร์ แต่ละปีกประกอบด้วยพื้นที่การผลิต 4 ส่วนแยกตามปีก ได้แก่ โรงงานสี โรงงานไม้ แผนกประกอบ และคลังสินค้า
เหตุผลที่ทำให้โรงงานแห่งนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลกเพราะมีการวางระบบนวัตกรรมและการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพื่อป้องกันการสูญเสียพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ประมาณ 250,000 kWh ต่อปีที่ได้จากการติดแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากกว่า 1,200 ตัวบนหลังคาโรงงาน ด้านความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการผลิตยังสามารถเก็บไว้เพื่อนำไปผลิตเป็นฮีทเตอร์หมุนเวียนใช้ต่อในอาคารได้ด้วย
ส่วนระบบการขนส่งซึ่งเป็นตัวการของการผลิตก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ สำหรับทุกอุตสาหกรรม Vestre ได้ยกเครื่องเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าเต็มรูปแบบคันแรกของโลก โดยสั่งซื้อมาจาก Tesla ทำให้มั่นใจได้ว่าตลอดการขนส่งระหว่างโรงงานในสวีเดนถึงนอร์เวย์ The Plus จะสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลลงได้กว่า 55,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการลดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 71,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว!
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้โรงงานแห่งนี้ไม่เพียงเข้าเกณฑ์มาตรฐานอาคารสีเขียวของสหราชอาณาจักรอย่าง BREEAM (Building Research Establishment’s Environmental Assessment Method) แต่ยังได้รับการจัดให้เป็นอาคารประเภท BREEAM Outstanding หรืออาคารสีเขียวโดดเด่นในระดับนานาชาติอีกด้วย
โรงงานที่เป็นมิตรกับชุมชนและนักท่องเที่ยว
อาคารและระบบนวัตกรรมที่กินขาด ยังเสริมจุดแข็งที่เรามักไม่ค่อยเห็นอย่างการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จากรูปทรงอาคารตัว X ที่แยกเป็น 4 ปีก บริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นจุดตัดระหว่างพื้นที่ทั้งสี่นั้นถูกออกแบบไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว
ถ้าเราเข้าไปยืนอยู่บริเวณตำแหน่งใจกลางของจุดตัดนี้ จะสามารถมองเห็นพื้นที่ทำงานรอบด้านทุกกระบวนการจากทุกแผนกในวิว 360 องศา ขณะเดียวกันโซนตรงกลางยังเจาะช่องล้อมกระจกไว้ สร้างพื้นที่กลางแจ้งเพื่อปลูกต้นไม้สูงใหญ่เว้นให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาในอาคาร รอบข้างมีบันไดเวียนหลากสีสำหรับเดินขึ้น-ลง จากด้านบนสู่ด้านล่าง ส่วนลานใต้ร่มไม้ทำเป็น Showcase สำหรับแสดงคอลเลกชันเฟอร์นิเจอร์ที่ผลัดเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี
อีกทั้งเรายังสามารถเดินบริเวณพื้นที่กลางแจ้งด้านนอกได้ทุกส่วนที่มีทางเดินบันไดเวียน เพราะตั้งใจออกแบบให้ตลอดทั้งโรงงานมีเส้นทางที่ผู้มาเยือนสามารถเดินดูได้จากภายนอก ทำให้ไม่รบกวนการทำงานของพนักงานด้านใน พื้นที่ด้านนอกที่ล้อมด้วยต้นไม้จะช่วยให้การไปชมโรงงานครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน ๆ เนื่องจากเราจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมสัมผัสความสดชื่นไปด้วยกัน
ความฉลาดของการออกแบบอยู่ที่การดีไซน์ให้ดูเป็นมิตร กระจายบรรยากาศสนุกสนานโดยใช้สีสันที่สดใสเข้าดึงดูด ขณะเดียวกันสีเหล่านั้นยั้งเป็นตัวแทนของโซนต่าง ๆ ในโรงงาน ซึ่งแต่ละแห่งจะระบุรหัสสีของตัวเอง ดังนั้น เวลาสื่อสารเพื่อบอกโซนหรือเดินไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ตรงกับสีเหล่านั้นค่อนข้างชัดเพราะตกแต่งด้วยสีเดียวกัน ทำให้ไม่ต้องกลัวหลง เพราะจะรู้ได้ทันทีว่าตอนนี้กำลังเดินอยู่ที่ไหน
ที่สำคัญคือโรงงานราคาพันล้านแห่งนี้ยังไม่ล้อมรั้ว แม้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลแต่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเดินเข้าออกรอบนอกอาคาร ใช้พื้นที่ได้ในฐานะสวนสาธารณะซึ่งทางโรงงานได้เตรียมจัดกิจกรรมรองรับไว้ให้คนเข้าร่วมทั้งแบบครอบครัวหรือเพื่อนฝูง กระทั่งนักปีนเขาหรือสายเดินป่า ถ้าใครอยากเปลี่ยนบรรยากาศมาตั้งเต็นท์ในสวนใกล้โรงงานที่ล้อมรอบด้วยป่า ก็ได้รับอนุญาตให้ทำได้ และนอกจากต้นไม้แล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังมีทั้งสนามเด็กเล่นที่นำเฟอร์นิเจอร์ของ Vestre ขนาดยักษ์มาติดตั้ง หรือบริเวณสวนที่มีหอประชุมไม้ ภายในมีชิงช้า มีหอคอยสำหรับเป็นจุดชมวิว พื้นที่นั่งปิกนิก ให้เราพักผ่อนเต็มไปหมด
ปัจจุบันในประเทศไทยเราก็มีหลายพื้นที่จัดตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม การทำความเข้าใจและดูผังโครงสร้างของ The Plus เป็นต้นแบบ แม้อาจจะไม่ถึงขนาดเลียนแบบระบบได้ 100% จากข้อจำกัดด้านต้นทุนและพื้นที่ แต่เราก็สามารถนำข้อดีบางส่วนมาปรับใช้เพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้นได้ เพราะการลดปริมาณการสร้างมลภาวะและฟื้นฟูธรรมชาติคือหนทางแก้ไขระยะยาวที่เราควรร่วมมือกันทั้งภาคธุรกิจและระดับปัจเจกบุคคล
อ้างอิงแหล่งที่มาภาพและข้อมูลจาก