กระแสผลการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ รอบคัดเลือกโอลิมปิก ที่มีปัญหาทางด้านเทคนิค และค้านสายตาคนดู กระทั่งลามมาถึงกรณีติดสินบน จนคว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ในกรุงโตเกียว ทำให้นึกย้อนไปถึงการออกแบบสเตเดียมสุดอลังการโดยยอดสถาปนิกหญิง ‘Zaha Hadid’ ที่เหล่าสถาปนิกระดับบิ๊กของญี่ปุ่นรวมตัวกันประท้วงจนทำให้ต้องระงับการก่อสร้าง และมีการประกวดแบบใหม่โดยได้สถาปนิกท้องถิ่นเป็นผู้ดีไซน์เอง รวมไปถึงการออกแบบตราสัญลักษณ์ หรือ ‘โลโก้’ ของโอลิมปิกโตเกียว ที่ดีไซเนอร์ชาวเบลเยียม ออกมาแฉว่าโดนคัดลอกผลงาน แถมยังไปละม้ายคล้ายกับวอลเปเปอร์ของค่ายโทรศัพท์มือถือจากสเปนด้วย

  • ปัญหาการออกแบบสเตเดียม

ทั้งนี้ เมื่อปีค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา มีการประกวดแบบเพื่อก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น เพื่อใช้รองรับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ‘โอลิมปิก โตเกียว 2020’ ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกนั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลัก 5 ประการ ประกอบด้วย 1) การออกแบบสเตเดียมต้องรองรับผู้ชมได้ 80,000 ที่นั่ง 2) หลังคาของของสเตเดียมจะต้องสามารถเปิดปิดได้ 3) การออกแบบจะต้องมีความยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) มีการจัดการแทรฟฟิคของผู้ชมที่ดี 5) ต้องสามารถก่อสร้างเสร็จภายในปี 2018 เพื่อใช้ในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก ‘Rugby World Cup 2019’ ด้วย

จากการคัดเลือกอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการด้านสถาปัตยกรรมและผู้เชี่ยวชาญ มีมติให้ผลงานการออกแบบของบริษัทสถาปนิกอังกฤษชื่อดัง Zaha Hadid Architects เป็นผู้ชนะการประกวดแบบเพื่อก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติในครั้งนี้ โดยสเตเดียมดังกล่าว สามารถจุผู้ชมได้ 80,000 ที่นั่ง ตรงตามความต้องการ และยังเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่สื่อให้เห็นถึงพลังที่เชื่อมโยงสำหรับจัดการแข่งขันกีฬา นอกจากนี้ หลังคาเหนือสเตเดียมยังสามารถเลื่อนเปิดได้เพื่อการใช้งานในวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย แถมยังมีการบริหารจัดการสเตเดียมที่ดี มีการออกแบบการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า รวมถึงการเก็บกักน้ำฝนมาใช้ในระบบ Cooling System เพื่อลดความร้อนให้กับสเตเดียม

สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น "Olympic Tokyo Stadium" ออกแบบโดย Zaha Hadid Architects
สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น “Olympic Tokyo Stadium” ออกแบบโดย Zaha Hadid Architects

ต่อมามีการรวมตัวกันของสถาปนิกท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ที่มีฝีมือระดับพระกาฬไม่แพ้กัน นำโดย โตโย อิโตะ (Toyo Ito) ซุโอะ ฟูจิโมโต (Sou Fujimoto) เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) และไรเคน ยามาโมโต (Riken Yamamoto) ออกมาคัดค้านว่าแบบของสเตเดียนั้นไม่มีความเหมาะสม ทั้งยังมีขนาดใหญ่เกินไป และใช้งบประมาณค่อนข้างสูง กระทั่งในที่สุด Zaha Hadid ใช้เวลาร่วม 2 ปี ในการปรับแบบให้มีสเกลที่เล็กลงและใช้งบประมาณน้อยลง แต่ก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจของกลุ่มนักออกแบบชาวญี่ปุ่น โดยสถาปนิกผู้คร่ำหวอดในวงการ อาระตะ ไอโซซากิ (Arata Isozaki) เผยผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการปรับดีไซน์ครั้งใหม่ว่า เป็นความผิดพลาดที่ทำให้เขารู้สึกสิ้นหวัง

การคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากหลายภาคส่วน ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจยกเลิกใช้แบบก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ Zaha Hadid เพื่อระงับปัญหางบประมาณการก่อสร้างบานปลาย จากเดิมที่คาดไว้ราว 34,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 68,000 ล้านบาท และเพื่อตัดปัญหาทั้งหมด นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ (Shinzo Abe) ออกมาประกาศว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะกลับไปเริ่มต้นโครงการก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกโดยนับจากศูนย์ใหม่ พร้อมระบุว่าสนามกีฬาแห่งใหม่จะแล้วเสร็จทันการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพในปีค.ศ. 2020 อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดีความล่าช้าที่เกิดขึ้น จะทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทันการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปีค.ศ. 2019

สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น "Olympic Tokyo Stadium" ออกแบบโดย Zaha Hadid Architects
สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น “Olympic Tokyo Stadium” ออกแบบโดย Zaha Hadid Architects

ทั้งนี้ หลังการประกาศยกเลิกแบบก่อสร้างของรัฐบาลญี่ปุ่นมีขึ้น Zaha Hadid ได้เผยแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ออฟฟิศเซียล ระบุว่า ทีมของตนถูกกีดกันไม่ให้ร่วมงานกับผู้รับเหมา จนทำให้งบบานปลายและล่าช้า ไม่เกี่ยวกับผลงานการออกแบบ โดยข้อความจากแถลงการณ์เปิดผนึก สรุปใจความได้ว่า “Zaha Hadid Architects และทีมนักออกแบบทุกคน ทำงานอย่างหนักร่วมกับ สมาคมกีฬาญี่ปุ่น (JSC) เพื่อให้แน่ใจว่า การพัฒนาผลงานการออกแบบจะอยู่ในขนาดและงบประมาณที่กำหนด ขณะที่การปรับการออกแบบ ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก นอกจากนี้ เรายังแนะนำเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการเลือกใช้วัสดุมาตรฐาน และเทคนิคในการก่อสร้างที่เหมาะสมสำหรับสนามกีฬาแห่งนี้ด้วย”

“จากประสบการณ์ของเรา วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพในงบประมาณที่คุ้มค่า คือการเลือกนักออกแบบ เพื่อทำงานร่วมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง และลูกค้า โดยเป็นทีมเดียวกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดี เรากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานร่วมกับทีมผู้รับเหมา จึงเพิ่มความเสี่ยงของงบประมาณที่อาจบานปลายโดยไม่จำเป็น และกำหนดการแล้วเสร็จที่อาจล่าช้าลง นอกจากนี้ ทีมผู้รับเหมาก่อสร้างยังได้รับการแต่งตั้ง ก่อนที่จะมีการเสนอการประมาณการค่าใช้จ่ายด้วย”

ท้ายที่สุดคณะกรรมการและสมาคมกีฬาญี่ปุ่น จัดการประกวดแบบขึ้นใหม่เป็นครั้งที่ 2 และมีมติเลือกผลงานการดีไซน์ของสถาปนิกท้องถิ่นชื่อดัง เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) แทน ด้วยเหตุผลที่ว่า สามารถลดงบประมาณ และระยะเวลาในการก่อสร้าง ตลอดจนการใช้งบในการบริหารจัดการดูแลที่สมเหตุสมผล มีดีไซน์คอนเซ็ปต์สอดคล้องกับรูปแบบและวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่น

สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น "Olympic Tokyo Stadium" จากการประกวดแบบครั้งที่ 2 ออกแบบโดย Kengo Kuma
สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น “Olympic Tokyo Stadium” จากการประกวดแบบครั้งที่ 2 ออกแบบโดย Kengo Kuma
  • ปัญหาการออกแบบตราสัญลักษณ์

ราวเดือนกันยายน 2015 หลังจากมีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ หรือ โลโก้ สำหรับใช้ในมหกรรมการแข่งขันกีฬา โอลิมปิกในกรุงโตเกียว นักออกแบบชาวเบลเยียม โอลิเวอร์ เดอบี (Olivier Debie) ได้ยื่นเรื่องให้ระงับการใช้งาน โดยอ้างว่าตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ไปละม้ายคล้ายกับตราสัญลักษณ์ของโรงละคร Theatre de Liege ในเบลเยี่ยม ที่เขาออกแบบไว้เมื่อปี 2013 พร้อมระบุว่า จะฟ้องร้องหากมีการนำไปใช้งาน โดยโรงละคร และคณะกรรมการโอลิมปิกเบลเยียม ก็จะสนับสนุนการฟ้องร้องในครั้งนี้ด้วย

นักออกแบบชาวเบลเยียม ต้องการคำชี้แจงจากคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นว่า เหตุใดผลงานของนักออกแบบชาวญี่ปุ่น เคนจิโร ซาโน (Kenjiro Sano) จึงคล้ายคลึงกับผลงานของเขาอย่างมาก “อาจเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าโลโก้ของโตเกียวโอลิมปิก เลียนแบบโลโก้ของโรงละครเบลเยียม แต่ผลงานของเราเผยแพร่มาก่อน และไม่แน่ว่า เคนจิโรอาจเคยเห็นมาก่อนและนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจ” ดีไซเนอร์ชาวเบลเยียมเผย

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้ดูแลการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก กล่าวว่า คณะกรรมการได้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้าทั่วโลกแล้ว และไม่มีปัญหาด้านการออกแบบตราสัญลักษณ์ ขณะที่ผู้ว่าการกรุงโตเกียว ก็ได้ออกมาสนับสนุนในลักษณะเดียวกันว่า ตราสัญลักษณ์ของโตเกียวโอลิมปิก ได้รับการคัดเลือกและตรวจสอบอย่างรอบคอบ และไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

วอลเปเปอร์โทรศัพท์มือถือของสเปน (ซ้าย) โลโก้ของโตเกียวโอลิมปิก (กลาง) โลโก้ของโรงละครเบลเยี่ยม (ขวา)
วอลเปเปอร์โทรศัพท์มือถือของสเปน (ซ้าย) โลโก้ของโตเกียวโอลิมปิก (กลาง) โลโก้ของโรงละครเบลเยี่ยม (ขวา)

นอกจากปัญหาตราสัญลักษณ์กับโรงละครเบลเยี่ยมแล้ว ยังมีผู้พบว่าการออกแบบยังไปคล้ายกับ ภาพวอลเปเปอร์โทรศัพท์มือถือของบริษัท Barcelona’s Hey Studio ประเทศสเปน ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อตอบแทนผู้บริจาคเงินช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011

สุดท้ายแล้วญี่ปุ่นยุติปัญหาดังกล่าว ด้วยการจัดประกวดออกแบบอีกครั้ง โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประชันมากกว่า 15,000 ชิ้น จากทั่วโลก จนกระทั่งถูกคัดเลือกให้เหลือเพียง 4 ผลงานสุดท้าย และเปิดให้ประชาชนทั่วไปโหวตลงคะแนนเพื่อเลือกผลงานที่ดีที่สุด ซึ่งได้ผู้ชนะเมื่อเดือนเมษายน 2016 ที่ผ่านมา เป็นผลงานการออกแบบของ อาซาโอะ โตโกโละ (Asao Tokolo) ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นเช่นเดิม โดยระบุถึงแนวคิดในการออกแบบว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงเลขาคณิต และความกลมกลืนของตาหมากรุกในรูปทรงกลม หรือคล้ายกับมงกุฎช่อมะกอก ที่มอบเป็นรางวัลให้กับนักกีฬาในโอลิมปิกยุคโบราณ

ภาพตราสัญลักษณ์โอลิมปิกโตเกียว จากการออกแบบครั้งใหม่ โดยดีไซเนอร์ญี่ปุ่น อาซาโอะ โตโกโละ (Asao Tokolo) ( Image : AP)
ภาพตราสัญลักษณ์โอลิมปิกโตเกียว จากการออกแบบครั้งใหม่ โดยดีไซเนอร์ญี่ปุ่น อาซาโอะ โตโกโละ (Asao Tokolo) ( Image : AP)
Previous articleBCI ASIA ร่วมกับนิตยสาร FuturArc จัดงานมอบรางวัล “BCI ASIA AWARDS 2016”
Next articleดีไซเนอร์เจ้าของผลงานโลโก้เดิมของ Instagram จะว่าอย่างไร
หลังการอัพเดทครั้งใหม่มีสีสันฉูดฉาดฉีกแนววินเทจ
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม