ในช่วงเวลาหลายปืที่ผ่านมานั้น ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นในหลายๆ แห่งทั่วโลก ทั้งธรณีพิบัติ อุทกภัย และวาตภัย ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือนและเมืองต่างๆ ให้พังทลายเสียหายลง ผู้ประสบภัยพิบัติมากมายไร้ที่พักพิงซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ในการฟื้นฟูหรือก่อสร้างอาคารหรือบ้านเรือนขึ้นมาใหม่นั่นย่อมต้องใช้เวลา ดังนั้นสถาปนิกหลายๆ ราย จึงได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบ Shelter หรือที่พักพิงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

และหนึ่งในนั้นได้แก่ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น Shigeru Ban ที่ได้นำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมการออกแบบที่พักพิงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่พักพิงชั่วคราวสำหรับเหยื่อแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ. 2011, การออกแบบและสร้างโครงสร้างม้วนกระดาษ เพื่อบริจาคให้สำหรับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ UNHCR ในการนำไปสร้างเป็นที่พักพิงแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในรวันดาและเฮติ หรือการออกแบบบ้านพักผู้ประสบภัยชั่วคราว เมื่อครั้งที่เนปาลเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้วและล่าสุดเขาก็ได้เดินทางไปยังประเทศเอกวาดอร์เพื่อไปสำรวจพื้นที่ที่ถูกผลกระทบจากแผ่นดินไหว ให้ความช่วยเหลือและความรู้เกี่ยวกับการสร้างที่พักพิงชั่วคราวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังมีสถาปนิกอีกหลายรายที่เคยได้ออกไอเดียนำเสนอ Shelter หรือที่พักพิงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเอาไว้ อาทิ

‘Hex House’ ที่พักพิงทรงหกเหลี่ยม

Hex-House-by-Architects-for-Society-1020x610องค์กรไม่แสวงหากำไร Architects for Society (AFS) ได้ออกแบบที่พักพิงเพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ ที่มีชื่อว่า‘Hex House’ ที่มาในรูปทรงหกเหลี่ยม ราคาย่อมเยา ติดตั้งได้ง่ายขนย้ายสะดวกและมีความยั่งยืน ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากที่พักพิงฉุกเฉินอื่นๆ ก็คือ ‘Hex House’ ถูกออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาว ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านที่ถูกสร้างขึ้นแบบถาวรส่วนประกอบพื้นฐานของที่พักพิงนี้ประกอบด้วย ท่อเหล็กอาบสังกะสี, ผนัง structural insulated panel (SIP), พื้นและหลังคา นอกจากนี้ รูปทรงหกเหลี่ยมยังช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับตัวบ้าน ทำให้ไม่ต้องใช้โครงสร้างค้ำเพิ่มด้านใน อีกทั้งแผ่นหลังคาเป็นแบบ self-support ที่ล็อคกับข้อต่อรางลิ้น เพื่อทำให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรงมั่นคง โดยที่พักพิงแต่ละหน่วยสามารถนำมาติดตั้งติดกันหลายๆ ยูนิตเพื่อสร้างที่พักพิงขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วย

Hex-House_AFS5-3_Page_2-889x633นอกจากนี้ยังมีระบบกักเก็บน้ำฝนที่จะถูกกักเก็บผ่านทางรางน้ำซึ่งจะกรองน้ำลงไปยังถังเก็บน้ำและสามารถปั๊มน้ำดังกล่าวกลับมาใช้ภายในบ้านได้ ระบบระบายอากาศจะถูกติดตั้งไว้สองฝั่งของที่พักในขณะที่พลังงานไฟฟ้าจะได้จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับพื้นที่ภายในถูกออกแบบให้ดูทันสมัย มีการใช้ผนังยิปซั่ม พื้นไม้ไผ่กระเบื้องเซรามิกสำหรับปูพื้นห้องน้ำ ตู้เก็บของใช้ในครัวที่ทำจากไม้ไผ่เป็นต้น นับว่าเป็นที่พักพิงที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติแถมโครงสร้างยังมีความแข็งแรงทนทาน และสามารถใช้งานได้นาน15-20 ปีเลยทีเดียว

 

‘La Matriz’ ที่พักพิงรูปทรงเอสกิโม

La-Matriz-by-Pontifical-Catholic-University-of-Peru-51-1020x610ด้วยเหตุของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนที่อยู่อาศัยแถบชายฝั่งทะเลของประเทศเปรู ต้องประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติและต้องเผชิญกับภาวะอากาศแห้งแล้งอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Pontifical Catholic University of Peru (PUCP) ในเปรูพัฒนาที่พักพิงฉุกเฉินเพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของผู้ประสบภัยพิบัติบริเวณชายฝั่งทะเลดังกล่าว

 

ที่พักพิงนี้มีชื่อว่า ‘La Matriz’ มีรูปทรงคล้ายกับบ้านน้ำแข็งของชาวเอสกิโมประกอบด้วยโครงสร้าง Self-support ขัดกันเป็นตาราง มีน้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน และติดตั้งได้ง่าย หุ้มด้วยชั้นของโฟมเพื่อช่วยลดการสูญเสียความร้อนส่วนภายนอกสุดเป็นแผ่นอะลูมิเนียมที่เชื่อมต่อกันเพื่อช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์อีกทั้งบางแผ่นยังสามารถเปิดออกเพื่อช่วยให้อากาศไหลเวียนและรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ด้วย ‘La Matriz’ สามารถจัดเก็บให้อยู่ในทรงแบนเพื่อความสะดวกในการขนส่งทางรถบรรทุก เรือ หรือเฮลิคอปเตอร์ สามารถประกอบและติดตั้งภายใน 4 ชั่วโมง และรองรับผู้อยู่อาศัยได้ถึง 8 คน

 

‘Lofty’ ที่พักพิงชั่วคราวที่ขนส่งง่าย

Lofty2Studio Muda สตูดิโอด้านการออกแบบตั้งอยู่ในประเทศโปรตุเกส ได้ออกแบบที่พักพิงชั่วคราวแบบสำเร็จรูปที่ใช้งานง่าย น้ำหนักเบา สามารถปล่อยลงมาจากเครื่องบินได้ สามารถขนย้ายด้วยมือหรือจะขนส่งโดยรถยนต์ก็ได้ ที่พักพิงนี้มาในโครงสร้างทรงสามเหลี่ยมคล้ายกับกระโจมที่ออกแบบให้ลอยได้เหมือนกับร่มชูชีพ ตัวโครงทำจากไม้ไผ่น้ำหนักเบา 4 ต้น ขึงด้วยตาข่ายไนล่อน โดยก่อนที่จะถูกปล่อยลงมาจากเครื่องบิน ที่พักพิงนี้จะถูกถ่วงด้วยลังไม้ที่บรรจุของใช้ที่จำเป็น เพื่อช่วยให้ร่อนลงสู่พื้นดินได้ นอกจากนี้คาโนปี้ยังทำจากผ้าแคนวาสที่ป้องกันแสงแดด ความร้อน และน้ำฝนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งรูปทรงหลังคาที่ยกสูงยังช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกอีกด้วย

 

‘Living Shelter’ ที่พักพิงพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

living shelterบริษัทสถาปนิกในสิงคโปร์ WY-TO ได้ทดลองสร้างที่พักพิงที่มีชื่อว่า ‘Living Shelter’ สำหรับผู้ประสบภัยพิบัตในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่พักพิงนี้มีราคาย่อมเยา ขนย้ายสะดวกและสามารถติดตั้งและรื้อถอนได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ให้ยุ่งยาก ด้วยการใช้เทคโนโลยี Folding Mechanism ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแบบของหมู่บ้าน (kampong) ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวโครงสร้างและผนังอาคารมีความแข็งแรงทนทาน ทนต่อสภาพอากาศทุกรูปแบบสามารถสร้างบนพื้นที่ไม่เรียบ และสามารถนำชิ้นส่วนต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย

living shelter3นอกจากความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยแล้ว ที่พักพิงนี้ยังมาพร้อมแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ใช้งานภายในมีระบบการกักเก็บน้ำและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแบบพับเก็บได้ อาทิ เตียงนอน, ชั้นวางของ, โต๊ะ และเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กที่ขนย้ายได้ โดยเฟอร์นิเจอร์ภายในเกือบทั้งหมดทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา และผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่ง ‘Living Shelter’ตัวต้นแบบจะถูกจัดแสดงในงาน Architecture Biennale 2016 ที่ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

Builder Vol.32 JUNE 2016

Previous articleแลนดี้โฮม คาดครึ่งหลังปี 59 ยอดก่อสร้างจะคึกคัก ผลจากอัตราดอกเบี้ยขาลง
Next articleดิ เออเบิ้ล ส่ง แซฟวี่ คอนโดมิเนียม ยึดพื้นที่พหลฯ-อารีย์
หนึ่งฤทัย คาทุสเซฟสกี้
นักเขียนนิตยสาร Builder สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตนัก Marketing ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นนักเขียน และนักแปลอิสระ ให้กับนิตยสารและบริษัทต่าง ๆ